กรุงเทพฯ--28 ส.ค.--กรมชลประทาน
น้ำกับดินเป็นทรัพยากรที่อยู่คู่กัน และทั้งสองสิ่งเอื้อประโยชน์ต่อกันและกัน หากน้ำดีดินก็ดี หากดินดีน้ำก็ดี นอกเหนือไปกว่านั้นชีวิตของคนที่อยู่กับดินและน้ำก็จะดีไปด้วย
กรมชลประทาน ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลด้านทรัพยากรน้ำ จึงมีนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่ดูแลรักษาทั้งสองอย่าง
นายมหิทธิ์ วงศ์ษา นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ (ส่วนสิ่งแวดล้อม) สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน อธิบายว่าเมื่อดินถูกใช้งานไปมากๆ ย่อมเสื่อมคุณภาพลง การเสื่อมคุณภาพของดินจะมีผลต่อการเกษตรกรรม การอนุรักษ์ดินและน้ำจึงต้องทำควบคู่ไปกับการปรับปรุงบำรุงดิน
"การอนุรักษ์ดินและน้ำคือการจัดการเรื่องระบบดิน ระบบการปลูกพืช เช่น ถ้าดินที่ลาดเอียงก็ต้องจัดการให้เหมาะสมกับการปลูกพืชแต่ละชนิด กรมชลประทานจึงมอบหมายให้กรมพัฒนาที่ดินเพื่อดำเนินการ เราให้งบประมาณไป สำหรับในพื้นที่ชลประทานของเรา เรากำหนดให้การอนุรักษ์ดินและน้ำและการปรับปรุงบำรุงดินเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาการเกษตร การที่เราจะดำเนินการโครงการที่จะส่งเสริม พัฒนาระบบชลประทาน เราต้องรู้ก่อนว่าดินของเราเป็นอย่างไร"
ดินลาดเอียง ชนิดดิน ฯลฯ เป็นสิ่งที่กรมชลประทานศึกษาวิจัยเพื่อให้เกษตรกรปลูกพืชได้ตรงกับดิน ถ้าดินกับพืชคุณสมบัติไม่ตรงกัน ผลผลิตจะไม่ดี หรืออาจปลูกไม่ขึ้นเสียด้วยซ้ำ ถึงแม้จะมีองค์ประกอบมากมายที่ทำให้พืชเจริญเติบโตได้ แต่คุณภาพผลผลิตก็มาจากปัจจัยหลักคือดิน
ช่วงเริ่มต้นของการวางแผนพัฒนาการเกษตร จึงต้องดูความเหมาะสมของดินเป็นประการแรก ว่าดินนั้นเหมาะแก่การปลูกพืชชนิดใด หากเราปลูกพืชที่ไม่เหมาะสมกับดิน ก็อาจทำให้พืชเจริญเติบโตได้ไม่ดี ไม่ใช่เติมทุกอย่างจนบางอย่างเกินพอดี ข้อดีอย่างหนึ่งคือเกษตรกรประหยัดงบประมาณได้พอสมควร
นอกจากนี้ ยังมีการเก็บตัวอย่างดินมาวิเคราะห์ว่ามี ธาตุอาหารพืชอะไรบ้าง มีปริมาณมากน้อยขนาดไหน เพื่อนำไปวางแผนการใส่ปุ๋ยได้อย่างเหมาะสม
การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ก็เป็นเรื่องที่กรมชลประทานเล็งเห็นว่าจะสร้างความยั่งยืนให้ทั้งดินและน้ำ ตลอดจนคุณภาพชีวิตคนและสิ่งแวดล้อม
"ปุ๋ยอินทรีย์จะช่วยบำรุงดินโดยไม่ทำลายดิน เพราะฉะนั้นการพัฒนาการเกษตรในระบบชลประทาน กรมชลประทานดูแลครบวงจร เรื่องดินและน้ำจะช่วยให้การทำการเกษตรมีผลผลิตที่ดี เมื่อผลผลิตดีเกษตรกรก็จะมีรายได้ มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น"
เท่าที่ผ่านมาการอนุรักษ์ดำเนินการได้อย่างไม่มีปัญหา ไร้อุปสรรค นั่นก็เพราะความมุ่งมั่นตั้งใจ และการให้ความรู้เกษตรกรเพื่ออยู่ร่วมกับดินและน้ำอย่างยั่งยืน