กรุงเทพฯ--28 ส.ค.--Med Agency
จากข่าวสารต่างๆ ทั้งในไทย และ ต่างประเทศ จะพบว่าในแต่ละปีมีผุ้เสียชีวิตจากการโดนงูกัดจำนวนมาก ล่าสุด กอง บ.ก. medhubnews.com เว็บไซต์สุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยว วาไรตี้ และ เพจ sasook รายงานว่า
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ว่าที่ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงความอันตรายของสัตว์มีพิษว่า
ขณะนี้ เป็นช่วงหน้าฝน บางพื้นที่มีน้ำท่วมขัง ประชาชนอาจได้รับอันตรายจากการถูกสัตว์มีพิษ เช่น ตะขาบ แมงป่อง โดยเฉพาะงู ที่หนีน้ำมาอาศัยอยู่ในบริเวณบ้านกัดได้ จึงขอให้เพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น หลีกเลี่ยงการเดินในบริเวณที่รก มีหญ้าสูง
ที่น่าห่วงคือยังมีประชาชนบางส่วนเข้าใจผิด บางส่วนอาจจดจำจากละครว่า หากถูกงูกัดให้ดูดแผลเพื่อเอาเลือดที่มีพิษงูออกจากแผล หรือกรีดแผลแล้วพอกยา ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะจะทำให้แผลสกปรก เกิดการติดเชื้อ และอาจเป็นบาดทะยักได้
วิธีที่ถูกต้องคือ ต้องล้างแผลด้วยน้ำสะอาด เคลื่อนไหวขาหรือแขนที่ถูกกัดน้อยที่สุด โดยใช้ไม้กระดาน กระดาษแข็งๆ รองดามไว้ รีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หากทำได้ขอนำซากงูที่กัดไปด้วย เพื่อให้การรักษาถูกต้อง รวดเร็ว
สำหรับการขันชะเนาะ โดยใช้ผ้าหรือเชือกรัดเหนือบริเวณที่ถูกงูกัดให้แน่นพอสอดนิ้วได้ แล้วคลายออกทุก 15 นาที ช่วยลดปริมาณพิษงูแผ่ซ่านได้เพียงเล็กน้อย
อาจได้ประโยชน์บ้างในกรณีที่เป็นงูพิษที่มีผลต่อระบบประสาท และไม่สามารถไปพบบุคลากรทางการแพทย์ได้ในเวลาอันสั้น
แต่โดยทั่วไปไม่แนะนำให้ทำ เนื่องจากมักทำไม่ถูกวิธี รัดแน่นและนานเกินไป ทำให้เนื้อเยื่อตายจากการขาดเลือด และยังห้ามทำในกรณีที่เป็นงูพิษต่อระบบเลือด
เพราะจะทำให้มีการบวมและเลือดออกบริเวณแผลมากขึ้น จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา ในปี 2558 มีรายงานผู้ถูกงูกัด 4,618 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต พบมากในช่วงปลายฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาว ผู้ป่วยสูงสุดในเดือนตุลาคม
ทั้งนี้ หากถูกงูกัด สามารถสังเกตว่าเป็นงูพิษหรือไม่ โดยดูจาก 1.รอยเขี้ยว มี 2 ข้าง และมีอาการบวมแดงรอบ ๆ รอยกัด บางครั้งอาจเห็นเพียงรอยเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าถูกกัดบริเวณปลายมือปลายเท้า หรือบางครั้งอาจเห็นมากกว่า 2 รอยในกรณีที่ถูกกัดมากกว่า 1 ครั้ง 2.อาจมีอาการปวดอย่างรุนแรง 3.คลื่นไส้อาเจียน 4.หายใจติดขัด หากรุนแรงอาจหยุดหายใจได้ 5.สายตาขุ่นมัว 6.มีน้ำลายมากผิดปกติ และ 7.หน้าชาไม่รู้สึกหรือชาตามแขนขา โดยพิษนั้นขึ้นอยู่กับชนิดของงู เช่นงูเห่างูจงอาง งูสามเหลี่ยม งูทับสมิงคลา จะมีพิษต่อระบบประสาท ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงหนังตาตก กลืนลำบาก พูดไม่ชัด และหยุดหายใจ
สำหรับ กรณีที่เป็นข่าวไม่พอใจ รพ.เนื่องจากรอช้า และ เหตุสลดใจ เมื่อ ด.ช.อาริล วัย 14 ปี ชาวอินโดนีเซีย โพสต์รูปถ่ายขอความช่วยเหลือหลังถูกงูเห่า ( สื่อท้องถิ่นอินโดนีเซียบางแห่งรายงานว่าเป็นงูจงอาง ) โดยเป็นงูที่เขาเลี้ยงไว้กัดแขนขณะอยู่บ้าน แต่ไม่ถึง 12 ช.ม. ก็เสียชีวิตลง เหตุเกิดที่เมืองบันดุง จังหวัดชวาตะวันตก ประเทศอินโดนีเซีย
เนื่องจากตัวเขาไม่ไปหาหมอ แต่พยายามใช้เชือกผูกรองเท้ารัดรอบแขนเพื่อห้ามเลือดไม่ให้พิษงูแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกาย ซึ่งเป็นความเชื่อโบราณผิดๆ และสื่อนำเสนอไม่ถูกต้อง ประชาชนยังจำภาพ และ มุกตลก เช่น งูกัดมือ เอาเชือกมาผูกแขนกันพิษแล่นเข้าสู่หัวใจ.......เป็นต้น