กรุงเทพฯ--29 ส.ค.--มาเธอร์ ครีเอชั่น
ไทยเบฟเวอเรจ เอ็นเนอร์ยี"โชว์ศักยภาพนำของเสียผลิตไฟฟ้า คว้ารางวัลพลังงานทดแทนดีเด่นไทยแลนด์เอนเนอร์ยี่อวอร์ด
"ไทยเบฟเวอเรจ เอ็นเนอร์ยี่" โชว์ประสิทธิภาพ "โครงการผลิตพลังงานหมุนเวียนจากน้ำกากส่า"คว้ารางวัล ไทยแลนด์เอนเนอร์ยี่อวอร์ด2018 ด้านพลังงานทดแทนดีเด่นสามารถลดต้นทุนพลังงานพร้อมสร้างรายได้จากการขายไฟฟ้าเข้าระบบ
นายปราโมทย์ สมชัยยานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ในฐานะ ผู้ดำเนินธุรกิจรับบำบัดน้ำเสียให้กับโรงงานผลิตสุราของกลุ่มไทยเบฟเวอเรจ เปิดเผยว่า ในการดำเนิน "โครงการผลิตพลังงานหมุนเวียนจากน้ำกากส่า" เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ประสบความสำเร็จ โดยในปี 2561 บริษัทได้เข้ารับรางวัลดีเด่นด้านพลังงานทดแทน ประเภทโครงการผลิตไฟฟ้าและความร้อนร่วมบนเวที Thailand Energy Awards 2018 เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา
แนวทางการพัฒนาโครงการผลิตพลังงานหมุนเวียนจากน้ำกากส่า ซึ่งเป็นโครงการที่บริษัทรับดำเนินการในขั้นตอนการบำบัดน้ำเสียให้กับโรงงานผลิตสุรา บริษัท อธิมาตร จำกัด ใช้เทคโนโลยีระบบบำบัดน้ำเสียแบบปิดที่สามารถผลิตก๊าซชีวภาพ นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในหม้อไอน้ำทดแทนน้ำมันเตาได้ 95-100% ส่วนก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้มากเกินความต้องการจะนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าโดยปี 2560 ที่ผ่านมา บริษัทสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 4,775,960 kWh ความสามารถการผลิตกระแสไฟฟ้า ของโครงการดังกล่าว สามารถนำไปใช้ในกระบวนการผลิตของโรงงาน ทำให้บริษัทสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้ และ ส่วนหนึ่งยังขายไฟฟ้าเข้าระบบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัทเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย
โดยโครงการดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งโครงการที่อยู่ภายใต้แผนงาน พพ.ที่ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นเวลา 19 ปี ซึ่งปีนี้มีโครงการรับรางวัล Thailand Energy Awards 2018 รวม 69 รางวัล โดย 25 โครงการ ได้รับคัดเลือกส่งเข้าร่วมประกวดในเวที ASEAN Energy Awards 2018 ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือน ต.ค.ที่ประเทศสิงคโปร์
ปัจจุบันกลุ่มไทยเบฟฯมีโรงงานสุราในประเทศ 18 โรงงาน โดยมีโรงงานที่ดำเนินโครงการผลิตพลังงานหมุนเวียนจากน้ำกากส่า ซึ่งเป็นของเสียที่ได้จากกระบวนการผลิตแล้ว 8 โรงงาน แบ่งเป็น การผลิตก๊าซชีวภาพ 5 โรงงาน ในพื้นจ.อุบลราชธานี ,บุรีรัมย์ ,ขอนแก่น ,สุราษฎร์ธานี และปราจีนบุรี ซึ่งจะนำก๊าซชีวภาพมาเป็นเป็นเชื้อเพลิงในหม้อไอน้ำทดแทนน้ำมันเตาในกระบวนการผลิต ส่วนก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้เกินความต้องการจะนำไปผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งปัจจุบันจำหน่ายไฟฟ้า 2 โครงการ กำลังการผลิตแห่งละ 1 เมกะวัตต์ ซึ่งการลงทุนในระบบดังกล่าวใช้เงินลงทุนราว 260 ล้านบาท/แห่ง