กรุงเทพฯ--30 ส.ค.--แอคชั่น 999
จากการขยายตัวทั้งทางเศรษฐกิจและท่องเที่ยวในจังหวัดบุรีรัมย์ จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจากเดิมปีละ 200,000-300,000 คน เป็น 1.6 ล้านคน ในปี 2560 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.5 ล้านคน ในปี 2561 ทำให้การใช้น้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปาเพิ่มจาก 10 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีเป็น 20 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี จึงต้องมีการวางแผนบริหารจัดการน้ำเพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองในอนาคต
กรมชลประทานได้ร่วมมือกับทางจังหวัดทั้งด้านแผนงานและงบประมาณ เพื่อวางโครงข่ายน้ำของลุ่มน้ำ ลำตะโคงทั้งหมด โดยน้อมนำหลักการอ่างพวงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้ ได้แก่ การสร้างคลองเชื่อมระหว่าง อ่างเก็บน้ำหลัก 2 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มากและอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด สามารถถ่ายเทน้ำไป-มาระหว่างกันได้ นอกจากจะนำน้ำส่วนเกินไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตรแล้ว ยังช่วยป้องกันอุทกภัยในเขตเศรษฐกิจด้วย
นอกจากนี้ยังมีแผนการนำน้ำส่วนเกินจากลำปะเทีย ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของลำปลายมาศ ประมาณ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร เข้ามาเติมในอ่างฯ ห้วยตลาด โดยตลอดระยะทาง 40 กิโลเมตรจากคลองผันน้ำจากลำปะเทียมาอ่างฯ ห้วยตลาด สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้อีก 5,000 ไร่ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2562