กรมชลประทาน ติดตามเร่งรัดโครงการ “ฟลัดเวย์” แก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากเมืองนครศรีธรรมราชตามแนวทางพระราชดำริ ร.9

ข่าวทั่วไป Thursday August 30, 2018 10:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ส.ค.--แอคชั่น 999 กรมชลประทาน ติดตามเร่งรัดโครงการ "ฟลัดเวย์" แก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากเมืองนครศรีธรรมราชตามแนวทางพระราชดำริ ร.9 พร้อมเตรียม 16 แผนงานด้านอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อมลดผลกระทบคนในชุมชน ตามที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณในการดำเนินการก่อสร้างโครงการบรรเทาอุกภัยเมืองนครศรีธรรมราชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2560 วงเงิน 9,580 ล้านบาทพร้อมวางเป้าให้เร่งรัดโครงการแล้วเสร็จภายใน 3 ปี จากเดิม 6 ปี นั้น ขณะนี้ (ส.ค. 61) โครงการมีความก้าวหน้าไปอย่างมาก โดยมีการขุดคลองใหม่ 3 สาย ระยะทาง 18 กิโลเมตร ขุดขยายคลองเดิมคือคลองวังวัว คลองหัวตรุด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ ในขณะในส่วนของการจัดหาที่ดินทางกรมชลประทานได้มีการปักหลักเขตแล้ว 90 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งเตรียมแผนแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่มีต่อประชาชนต่อเนื่องไปอีก 10 ปี ทั้งนี้ แม้โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราชฯ จะไม่ได้จัดอยู่ในประเภทและขนาดของโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่กรมชลประทานได้ตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการก่อสร้างโครงการ จึงได้จัดสรรงบประมาณสำหรับการป้องกันแก้ไข ผลกระทบสิ่งแวดล้อมซึ่งจะดำเนินการควบคู่กับการก่อสร้างโครงการ จำนวน 16 แผนงาน งบประมาณทั้งสิ้น 62.77 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 10 ปี เช่น 1.แผนการช่วยเหลือเยียวยาให้กับราษฎรที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งจะมีทั้งการจ่ายค่าชดเชยที่ดินให้กับราษฎร ด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรม พร้อมทั้งส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้กับราษฎรเพื่อให้มีอาชีพ มีรายได้ สามารถพึ่งพาตนเอง ตามแนว ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 2.แผนการอนุรักษ์และพื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ครอบคลุมพื้นที่ในลุ่มน้ำให้มีความอุดมสมบูรณ์ ฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำซึ่งเป็นต้นกำเนิดของคลองสายต่างๆ เช่น คลองท่าดี การสร้างฝายชะลอน้ำ รวมทั้งการฟื้นฟูพื้นที่ปลายน้ำโดยการปลูกป่าชายเลนให้มีความอุดมสมบูรณ์ ป้องกันน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง 3.แผนการติดตามเฝ้าระวังระบบนิเวศวิทยาต่างๆ ที่อาจได้รับผลกระทบจากกิจกรรมการก่อสร้าง เป็นต้น โดยจะมีการประชุมติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ทุกๆ 3 เดือน เพื่อให้การพัฒนาโครงการฯ เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุด และเกิดผลกระทบน้อยที่สุด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ