กรุงเทพฯ--30 ส.ค.--แอคชั่น 999
เป็นข้อถกเถียงกันเสมอมาเมื่อจะมีการสร้างอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อน เพราะถือเป็นปกติที่จะต้องสร้างขวางลำน้ำ โดยใช้แนวเขาเป็นขอบอ่าง สิ่งที่หลายคนกังวลคือพื้นที่ป่าที่จะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำ และสัตว์ป่าจะอยู่อย่างไร
ที่ผ่านมาไม่ว่าจะพื้นที่ไหน ก่อนจะสร้างอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนจะต้องมีการสำรวจ ศึกษาผลกระทบอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อหาแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมที่สุด เกิดผลกระทบน้อยที่สุด เช่น กรณีการสร้างอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา ด้วยขนาดอ่างเก็บน้ำที่กักเก็บน้ำได้ถึง 295 ล้านลูกบาศก์เมตร แม้จะมีวัตถุประสงค์เพื่อสาธารณะคือ บรรเทาปัญหาอุทกภัย และภัยแล้งในลุ่มน้ำปราจีนบุรีอย่างยั่งยืน ก็ไม่วายมีความวิตกว่าผืนป่าและสัตว์ป่าจะเดือดร้อน
จากการศึกษาถี่ถ้วนทำให้กรมชลประทานวางแผนและปฏิบัติทุกวิถีทางเพื่อจัดการผลกระทบนั้น ทั้งจัดกิจกรรมปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติฯ ทดแทนพื้นที่สร้างอ่างเก็บน้ำ และที่สำคัญคือการอพยพสัตว์ป่าไปยังพื้นที่ที่ปลอดภัยแห่งใหม่
นอกจากสัตว์ป่ายังมีสัตว์เลี้ยง และสัตว์ขนาดเล็กอีกจำนวนหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ต้องอพยพ เนื่องจากสัตว์เหล่านี้เอาตัวรอดในน้ำไม่ได้ โดยใช้วิธีการดักจับด้วยกรงดักสัตว์
สัตว์แต่ละชนิดมีการกระจายไม่เหมือนกันที่อยู่นอกแนวน้ำท่วม การจับสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่งได้ภายในพื้นที่น้ำท่วมถึง จึงถูกคัดเลือกและจำแนกชนิดก่อนจะไปปล่อยในพื้นที่ที่เหมาะสมก่อนที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งการปล่อยในพื้นที่ตามลักษณะนิเวศก็จะช่วยให้สัตว์ดำรงชีวิตสืบต่อไปได้
การอพยพสัตว์ป่าในพื้นที่สร้างอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2557 มีสัตว์ที่โยกย้ายไปกว่า 6,000 ตัว แบ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 12 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 27 ชนิด และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกจำนวน 26 ชนิด จนกระทั่งเสร็จภารกิจอพยพสัตว์เมื่อปลายปี 2559 ทำให้สัตว์ป่ารวมถึงสัตว์เลี้ยงได้มีชีวิตรอดต่อไป
หลังจากเปิดใช้อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาเมื่อต้นปี 2560 ปัญหาอุทกภัย ภัยแล้ง และปัญหาน้ำเค็มหนุนลุ่มน้ำแม่น้ำปราจีนบุรีในหน้าแล้งก็ได้รับการแก้ไข ซึ่งอ่างเก็บน้ำแห่งนี้เกิดจากสายพระเนตรอันกว้างไกลของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ช่วยพลิกฟื้นชีวิตพสกนิกรใน จ.ปราจีนบุรี ให้พ้นจากภัยน้ำท่วม ภัยน้ำเค็มหนุน จนใช้ประโยชน์ทางการเกษตรกรรมไม่ได้
หลังจากเริ่มมีการกักเก็บน้ำในปี 2559 พื้นที่บริเวณตลาดเมืองเก่า อ.กบินทร์บุรี ซึ่งประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี ก็พ้นจากภัยน้ำท่วมและน้ำขังอย่างถาวร และในช่วงฤดูแล้ง อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาได้ช่วยระบายน้ำ เพื่อรักษาระบบนิเวศ ผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำปราจีนบุรี ทำให้ยังผลิตน้ำประปาส่งให้ชุมชนได้ ซึ่งต่างจากก่อนหน้านี้ที่ชาวบ้านจะไม่มีน้ำประปาใช้ในหน้าแล้งเพราะน้ำเค็มรุกเข้ามา
นับว่าการศึกษาอย่างละเอียดรอบคอบและการวางแผนปฏิบัติอย่างถูกต้องเหมาะสมช่วยให้ป่าก็ถูกทดแทน สัตว์ก็อยู่ได้ คนก็อยู่ด้วย