กรุงเทพฯ--3 ก.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผนึกกำลัง 4 องค์กรภาคีหลัก ดำเนินโครงการ "พัฒนารูปแบบตำบลส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชน" เพื่อสร้างบทบาทการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน บทบาทของพลเมืองรุ่นใหม่ให้มีความรู้ความสามารถ ร่วมกำหนดทิศทางของสังคมร่วมกับผู้ใหญ่ ครั้งแรกในประเทศไทย ภายใต้แนวคิด "เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน" พร้อมเปิด 3 จุดอ่อนเยาวชนไทยที่ผู้ใหญ่แก้ผิดจุด
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชานนท์ โกมลมาลย์ ผู้อำนวยการโครงการพัฒนารูปแบบตำบลส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชน และอาจารย์ประจำภาควิชาสังคมสงเคราะห์ คณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชน ที่ผ่านมากลไกการพัฒนา ถูกกำหนดและดำเนินการโดยผู้ใหญ่ ตั้งแต่กระบวนการคิด การลงมือทำ การแก้ปัญหา ซึ่งล้วนแต่เป็นมุมมองการพัฒนาที่เกิดขึ้นแค่ด้านเดียว จึงเกิดช่องว่างทางสังคม ระหว่างเด็กเยาวชนและผู้ใหญ่ ซึ่งทำให้เกิดจุดอ่อนของเด็กไทยได้ 3 ประเด็นหลัก คือ
1. ขาดการพัฒนาทักษะการใช้ที่ชีวิตที่ทันต่อสถานการณ์
2. ขาดการส่งเสริมระบบการศึกษาที่เหมาะสม
3. ขาดโอกาสจากความเหลื่อมล้ำทางสังคม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชานนท์ กล่าวต่อว่า องค์กรภาคีหลัก 4 หน่วยงาน ได้แก่ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย จึงได้ร่วมกันผลักดัน "โครงการพัฒนารูปแบบตำบลส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชน" เพื่อสร้างนวัตกรรมทางสังคมในการพัฒนาเด็กและเยาวชนผ่านการเปลี่ยนมุมมองการพัฒนา โดยเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชน มีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแสดงออกและสามารถกำหนดทิศทางการพัฒนาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากมุมมองของเด็กและเยาวชนอย่างแท้จริง ด้วยการผลักดันศักยภาพการมีส่วนร่วมของเยาวชนในท้องถิ่น นำไปสู่ทางออกที่เหมาะสม แก้ปัญหาได้ตรงจุด
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชานนท์ กล่าวต่อว่า "โครงการพัฒนารูปแบบตำบลส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชน" ด้วยการพัฒนานวัตกรรมทางสังคมรูปแบบใหม่ผ่านกรอบแนวคิด "เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน" โดยมีกระบวนเริ่มต้นจากการพัฒนาศักยภาพด้านการวิจัยเบื้องต้นแก่เยาวชน จากนั้นจะร่วมกันวิจัยเพื่อค้นหารูปแบบส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนระดับตำบล เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางของสังคมที่เด็กและเยาวชน เป็นผู้เลือก กำหนดเป้าหมาย ตามความถนัด ตามความสนใจ ผสมผสานการสนับสนุนจาก "เบญจภาคี" ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเศรษฐกิจ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคเด็กเยาวชน รวมทั้งมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ "SIY" กว่า 50 แห่งทั่วประเทศ และยังมีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กับสภาเด็กและเยาวชน ครั้งที่ 1 ไปแล้ว เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หลังจากนี้ยังมีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องและยังมีการขับเคลื่อนงานจริงในระดับพื้นที่ในทุกแห่งที่สนใจเข้าเข้าร่วมโครงการตลอดจนถึงเดือนกันยายน 2562 รวมระยะเวลาการดำเนินโครงการทั้งสิ้น 18 เดือน
ด้านนางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่าที่ผ่านมาประเทศไทยมีกลไกในการพัฒนาเด็กและเยาวชนผิดทาง คือ มุ่งเน้นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เช่น สิ่งเสพติด เด็กติดเกม คุณแม่วัยใส ความรุนแรงในครอบครัว เป็นต้น จนละเลยเรื่องการป้องกัน ซึ่งถือเป็นภูมิคุ้มกันด่านแรกที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาต่างๆตามมา และเป็นเรื่องที่ทำให้ไทยเสียโอกาส ดังนั้น การพัฒนาศักยภาพและทักษะของเด็กและเยาวชนให้มีภูมิคุ้มกันทางความคิด มีทักษะในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม จึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถละเลยได้อีก และต้องเริ่มลงมือเลยตั้งแต่วันนี้
"แต่การพัฒนาให้เกิดการป้องกันที่มีประสิทธิภาพได้ ต้องเป็นการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนในระยะยาว เนื่องจากองค์ความรู้ หรือทักษะที่จะนำไปสู่การสร้างพลเมืองรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ ต้องใช้ระยะเวลาในการกระตุ้นให้เกิดการรับรู้จนนำไปสู่การปฏิบัติได้ ที่สำคัญต้องเพิ่มสัดส่วนการพัฒนาให้มากกว่าการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุอย่างน้อยให้ได้สัดส่วน 70 ต่อ 30 เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งโครงการดังกล่าว ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนในระดับท้องถิ่นอย่างตรงจุด" นางสาวณัฐยา กล่าวในตอนท้าย
ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ โครงการ Social Innovation & Youth คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อีเมล siy.innovation@gmail.com หรือเข้าไปที่แฟนเพจhttps://www.facebook.com/SIYPROJECT/