กรุงเทพฯ--3 ก.ย.--ไทยออยล์
บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 3 กันยายน 2561
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 68-73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 75-80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (3 – 7 ก.ย. 61)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง หลังได้รับแรงหนุนจากปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านและเวเนซุเอลาที่ปรับลดลง รวมถึงปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่คาดจะปรับลดลง เนื่องจากโรงกลั่นยังคงกำลังการกลั่นในระดับสูงต่อเนื่องเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะได้รับแรงกดดันจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่คาดว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและความต้องการใช้น้ำมัน รวมถึงอุปทานที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นจากผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
- สำนักข่าวรอยเตอร์ส เผยปริมาณการส่งน้ำมันดิบของอิหร่านในเดือน ส.ค. 61 ลดลงมาแตะระดับ 2.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากระดับสูงสุดที่ 3.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา หลังได้เผชิญหน้ากับการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ ซึ่งกำกับให้ทุกประเทศหยุดการนำเข้าน้ำมันดิบอิหร่านนับตั้งแต่ 4 พ.ย. 61 นี้เป็นต้นไป โดยล่าสุด เกาหลีใต้ได้หยุดการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านแล้ว ขณะที่ญี่ปุ่นคาดจะหยุดการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านหลังกลางเดือน ก.ย. 61 เป็นต้นไป นอกจากนี้ ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากอิหร่านมายังยุโรปในเดือนนี้ ได้ลดลงมาอยู่ในระดับ 12 ล้านบาร์เรลต่อเดือน จากระดับสูงสุดในเดือน มี.ค. 61 ที่ 22 ล้านบาร์เรลต่อเดือน อย่างไรก็ตาม จีนและอินเดียคาดจะยังคงนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านต่อไป
- ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากประเทศเวเนซุเอลามีแนวโน้มปรับลดลง เนื่องจากท่าเรือขนส่งน้ำมันหลักของประเทศได้มีการหยุดดำเนินการลง หลังเกิดเหตุเรือขนส่งน้ำมันดิบชนกัน ส่งผลให้ไม่สามารถใช้ท่าเรือขนส่งน้ำมันดิบได้ โดยล่าสุดเวเนซุเอลาจะมีการส่งมอบน้ำมันดิบให้กับบริษัทน้ำมันแห่งชาติของรัสเซียช้าลง ดังนั้นการส่งออกน้ำมันดิบของเวเนซุเอลาน่าจะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับปริมาณการส่งออกของครึ่งปีแรกของปีนี้ที่ราว 1.22 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน หลังโรงกลั่นคาดจะคงกำลังการกลั่นในระดับสูงต่อเนื่องและปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบคาดจะอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 24 ส.ค. ปรับตัวลดลง 2.6 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 405.8 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 0.7 ล้านบาร์เรล
- จับตาการประชุมระหว่างผู้ผลิตทั้งในและนอกโอเปกในเดือน ก.ย. ว่าจะมีการพิจารณาปรับเพิ่มปริมาณการผลิตขึ้นเพื่อชดเชยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของอิหร่านที่ขาดหายไปหรือไม่ โดยล่าสุดในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ผลิตปรับเพิ่มกำลังการผลิตขึ้น ส่งผลให้ความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 109 ซึ่งเป็นการปรับลดลงค่อนข้างมากจากเดือน พ.ค. และ มิ.ย. ที่ร้อยละ 147 และ 120 ตามลำดับ นำโดยการปรับเพิ่มขึ้นของซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คูเวต และรัสเซีย
- ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและบริการยูโรโซน ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและบริการสหรัฐฯ และการจ้างงานนอกภาคเอกชนสหรัฐฯ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (27 – 31 ส.ค. 61)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.08 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 69.80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 1.60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 77.42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 75.67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงหนุนจากอุปทานที่คาดจะตึงตัวขึ้น เนื่องจากรายงานการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านจากสำนักข่าวรอยเตอร์ส เผยว่าปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบอิหร่านลดลงต่ำสุดในรอบ 16 เดือน นอกจากนี้ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ได้ปรับตัวลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่สอง ประกอบกับ สถานการณ์ข้อตกลงใหม่ของ NAFTA มีแนวโน้มที่จะตกลงกันได้ด้วยดี อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงกดดันจากการเพิ่มกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกอย่างต่อเนื่อง รวมถึง ความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ยังคงไม่มีแนวโน้มจะคลี่คลายในเร็วๆ นี้