กรุงเทพฯ--3 ก.ย.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จ.อุบลราชธานี
นายแพทย์ดนัย เจียรกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวถึงสถานการณ์โรคเมลิออยโดสิส ว่าโรคเมลิออยโดสิส สามารถพบได้ในช่วงฤดูฝน โดยผู้ป่วยมักรับเชื้อที่อยู่ในดินและน้ำ จากการสัมผัสดินหรือน้ำเป็นเวลานานหรือผ่านทางบาดแผล จากการดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อนเข้าไป หรือจากการหายใจเอาอากาศที่มีเชื้อปนเปื้อนเข้าไป หลังรับเชื้อประมาณ 1- 21 วัน ผู้ป่วยมักมีอาการไข้เป็นเวลานาน ไม่ทราบสาเหตุ มีเนื้อตาย แผล ฝี หนองที่ปอด ตับ ม้าม แผลอักเสบเรื้อรัง อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด โดยผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว
นายแพทย์ดนัย กล่าวต่ออีกว่า จากการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคเมลิออยโดสิส ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 สิงหาคม 2561 ประเทศไทย พบผู้ป่วยแล้ว 1,572 ราย เสียชีวิต 3 ราย ส่วนในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 10 พบผู้ป่วยทั้งสิ้น 730 ราย ยังไม่มีผู้เสียชีวิต ซึ่งโรคนี้จะพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูฝน สำหรับวิธีปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันและให้ปลอดภัยจากโรคนี้ คือ การใส่รองเท้าบู๊ทเมื่อจำเป็นต้องเดินลุยหรือย่ำน้ำเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีน้ำท่วม ดื่มน้ำต้มสุก หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์สุกๆ ดิบๆ และหลังสัมผัสน้ำและดิน ควรทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำสะอาดทันที หากมีอาการไข้เกิน 2 วันหรือเกิดแผลอักเสบเรื้อรัง ควรจะรีบไปพบแพทย์โดยทันที พร้อมแจ้งประวัติการสัมผัสน้ำหรือดินเป็นเวลานาน หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422