กรุงเทพฯ--4 ก.ย.--กรมส่งเสริมสหกรณ์
"กฤษฎา บุญราช" รมว.เกษตรฯ เป็นประธานเปิดโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนาของสหกรณ์ นำร่อง 2 จังหวัด ทั้ง พิษณุโลก และอุตรดิตถ์ รวมพื้นที่ 6,000 ไร่ ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้มีรายได้ที่มั่นคงจากการปลูกพืชหลังนาแทนการปลูกข้าวอย่างเดียว
วันที่ 3 กันยายน 2561 นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดโครงการ " Kick Off การส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนาของสหกรณ์" ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยมีนายเสถียรพงศ์ มากศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ และนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ให้การต้อนรับ ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ต้องการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูการทำนา เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้เพียงพอกับความต้องการของประเทศ และต้องการช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ปลูกข้าวให้มีรายได้ที่มั่นคง โดยปรับเปลี่ยนพื้นที่การปลูกข้าวเป็นการปลูกพืชชนิดอื่นๆ ที่ตลาดต้องการและให้ผลตอบแทนสูง เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวไม่ให้ตกต่ำ ขณะที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชทางเลือกที่ใช้น้ำน้อย แนวโน้มตลาดมีความต้องการสูง โอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้แก่เกษตรกรจำนวน 10 ราย จากนั้นเยี่ยมชมแปลงปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อชมการสาธิตการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ของสมาชิกสหกรณ์
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายในการส่งเสริมการปลูกพืชหลังนา ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และพืชอื่น ๆ กรมส่งเสริมสหกรณ์ จึงได้คัดเลือกพื้นที่ อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นพื้นที่เป้าหมายนำร่อง จำนวน 6,000 ไร่ สมาชิก 415 คน เป็นสมาชิกสหกรณ์ จำนวน 4 สหกรณ์ ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรบ้านหม้อ จำกัด สหกรณ์ผู้ใช้น้ำสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านโรงหม้อ จำกัด สหกรณ์ผู้ใช้น้ำสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านโคกหม้อ จำกัด และสหกรณ์การเกษตรพิชัย จำกัด และพื้นที่ในจังหวัดพิษณุโลก จำนวน 1 สหกรณ์ ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรพรหมพิราม จำกัด
"นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดูแลพี่น้องเกษตรกรทั้งประเทศกว่า 24 ล้านคน อย่างเป็นระบบ และแก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาด โดยเฉพาะข้าว ที่ปลูกกันเป็นจำนวนมาก โดยให้หาทางเลือกในการปลูกพืชชนิดอื่น จึงนำมาสู่การส่งเสริมให้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ นำร่องในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์และพิษณุโลกเพราะสภาพพื้นที่มีความเหมาะสม โดยให้ดำเนินการผ่านกลไกสหกรณ์ เพื่อป้องกันการเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง โดยให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ทำหน้าที่ดูแลเรื่องการเจรจาทำสัญญากับเอกชนอย่างรอบคอบ ซึ่งขณะนี้ได้ประสานกับซีพี และเบทาโกรไว้ในการเข้ามารับซื้อข้าวโพดที่ได้มาตรฐานจากสหกรณ์ โดยความชื้นไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์ เกษตรกรจะขายได้ราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 5 บาท แต่หากความชื้นอยู่ที่ 14.5 ราคาอยู่ที่ 8 บาทต่อกิโลกรัม และหากพื้นที่นำร่องนี้ประสบผลสำเร็จ จะสามารถนำไปขยายผลต่อได้ทั่วประเทศ นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯอยู่ระหว่างการทำประกันพืชผลการเกษตรให้แก่เกษตรกร แต่อยู่ระหว่างการดำเนินการ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว
ทั้งนี้ ในการดำเนินโครงการ สหกรณ์จะเข้ามาเป็นตัวกลางในการบริหารจัดการตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ตั้งแต่ส่งเสริมการผลิต การดูแลพื้นที่เพาะปลูก การเก็บเกี่ยว การรวบรวมผลผลิต ตลอดจนจัดหาตลาดมารองรับผลผลิตของสมาชิกเกษตรกร ในลักษณะเชื่อมโยงเครือข่าย มีการบูรณาการกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันบริหารจัดการสินค้าข้าวโพดแบบครบวงจร โดยมีระยะเวลาดำเนินการเริ่มตั้งแต่ เดือนสิงหาคม 2561 เป็นต้นไป และหากได้ผลดีเกษตรกรมีรายได้สูงกว่าการทำนา จะมีการส่งเสริมและขยายพื้นที่การเพาะปลูกพืชหลังนาเพิ่มขึ้นในจังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศ
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะเริ่มดำเนินการเพาะปลูกข้าวโพดตั้งแต่เดือนสิงหาคม –กันยายน 2561 โดยสหกรณ์ได้ทำการคัดเลือกเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ ตรวจสอบคุณสมบัติและข้อมูลสภาพพื้นที่การเพาะปลูกที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงภัยจากปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ทำการเกษตร การจัดอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรสมาชิก เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ การคัดเลือกพันธุ์เพาะปลูกให้เหมาะกับสภาพพื้นที่และรอบการผลิต การตรวจติดตามแปลง การตรวจติดตามคุณภาพ และการบริหารจัดการตลาดโดยสหกรณ์เป็นจุดรวบรวมรับซื้อผลผลิตจากสมาชิก
สำหรับต้นทุนการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของสมาชิกสหกรณ์ในพื้นที่อำเภอพิชัย เฉลี่ยที่ 3,769 บาท ต่อไร่ สมาชิกที่ปลูกคาดว่าจะได้ผลิตผลิตเฉลี่ย 1,500 กก.ต่อไร่ คาดการณ์ว่าจะสามารถขายข้าวโพดได้ในราคาไม่ต่ำกว่า กก.ละ 5 บาท ความชื้น 30 % ซึ่งสมาชิกจะมีรายได้ประมาณไร่ละ 7,500 บาท เป็นอย่างต่ำ ทำให้เกษตรกรมีกำไรต่อไร ไม่ต่ำกว่า 3,731 บาท ต่อไร่ ซึ่งในปัจจุบันถือว่ามีรายได้มากกว่าการปลูกข้าวซึ่งมีต้นทุนสูงกว่าการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
ส่วนการดำเนินงานในจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ผ่านมากรมฯ ได้มอบหมายให้สำนักงานสหกรณ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ จัดหาพื้นที่เป้าหมายและเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนการทำนาข้าวมาเป็นการ ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และจะยกระดับให้เป็นพื้นที่นำร่องภายใต้ชื่อ "อุตรดิตถ์โมเดล" ในเขตพื้นที่อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยกรมฯ ได้เตรียมการจัดสรรเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ให้สหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการกู้ยืมไปใช้เป็นเงินทุนสำหรับการรวบรวมผลผลิตข้าวโพดจากสมาชิกและเกษตรกรในพื้นที่ และส่วนหนึ่งนำไปให้สมาชิกกู้ยืมเพื่อใช้เป็นทุนเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เฉลี่ยรายละ 3,700 บาท/ไร่ โดยได้เน้นย้ำให้เกษตรกรสมาชิกควบคุมดูแลคุณภาพผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่สูงขึ้น
จากนั้น นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้พบปะให้กำลังใจแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดหลังนา โดยกิจกรรมที่ดำเนินการ ได้แก่ การมอบเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) ให้แก่สหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อสมาชิกเป็นทุนสำหรับการเพาะปลูก การเยี่ยมชมนิทรรศการให้ความรู้ทางวิชาการในการปลูกข้าวโพด การสาธิตการหยอดข้าวโพด และตรวจเยี่ยมจุดรวบรวมข้าวโพดของเครือข่ายสหกรณ์ผู้ผลิตข้าวโพดในจังหวัดอุตรดิตถ์ ณ ตลาดกลางรวบรวมและรับซื้อข้าวโพดของสหกรณ์การเกษตรเมืองตรอน จำกัด ติดถนนหมายเลข 11 ตำบลน้ำอ่าง อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์
กิจกรรมการขับเคลื่อนการส่งเสริมการปลูกพืชหลังนา เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรโดยกลไกสหกรณ์ในครั้งนี้ จะช่วยให้สมาชิกสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการ เกิดความมั่นใจในการประกอบอาชีพ การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนาได้อย่างมีคุณภาพ มีระบบการบริหารจัดการ การส่งเสริมการผลิตและการตลาดโดยใช้กลไกสหกรณ์ ช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรสมาชิกและครอบครัวได้อย่างมั่นคง