กรุงเทพฯ--4 ก.ย.--บีโอไอ
บีโอไอจับมือ "อาเซียน โคเรีย เซ็นเตอร์" จัดคณะนักลงทุนเกาหลีใต้ 30 ราย เยือนไทย พร้อมจัดสัมมนา "โอกาสการลงทุนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ" แจงมาตรการส่งเสริมการลงทุน พร้อมจับคู่ธุรกิจกับสมาคมผู้ประกอบการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติไทย
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายในงานสัมมนา "โอกาสการลงทุนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในไทย" ว่า บีโอไอ ร่วมกับ อาเซียน โคเรีย เซ็นเตอร์ (ASEAN-Korea Centre: AKC) หน่วยงานส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างเกาหลีใต้และภูมิภาคอาเซียน และสถาบันอุตสาหกรรมหุ่นยนต์แห่งเกาหลีใต้ (Korea Institute for Robot Industry Advancement: KIRIA) นำคณะนักธุรกิจจากกลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ จำนวนกว่า 30 ราย จาก 13 บริษัท เดินทางมาศึกษาลู่ทางการลงทุนในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ระหว่างวันที่ 4-6 กันยายน 2561 บีโอไอจึงจัดสัมมนาครั้งนี้ขึ้น เพื่อให้บริษัทจากเกาหลีใต้มองเห็นโอกาสการลงทุน ในประเทศไทย และสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับหากเข้ามาลงทุนด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ รวมทั้งการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน และการออกสมาร์ทวีซ่า เพื่อดึงดูดบุคลากรทักษะสูงให้เข้ามาทำงานในไทยด้วย
"หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะมีส่วนสำคัญในการยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยไปสู่ระบบการผลิตและบริการที่ทันสมัย (Advanced Manufacturing & Services) ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งปัจจุบันมีการนำเข้าหุ่นยนต์และเครื่องจักรระบบอัตโนมัติมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี อีกทั้งยังมีผู้ประกอบการกว่า 80% ที่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบอัตโนมัติในอนาคตอันใกล้ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร การแพทย์ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ โลจิสติกส์ และธุรกิจบริการต่างๆ จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการเข้ามาลงทุนตั้งฐานผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศไทย เพื่อป้อนตลาดไทยและส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาค" นายนฤตม์ กล่าว
ทั้งนี้ บีโอไอมีมาตรการให้สิทธิประโยชน์ทั้งกลุ่มดีมานด์ (ผู้ผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ) และกลุ่มซัพพลาย (กลุ่มผู้ใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ) ซึ่งเกาหลีใต้นับเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ จึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่ไทยต้องการเชิญชวนให้เข้ามาลงทุน โดยเชื่อมั่นว่าภายหลังการจัดกิจกรรมครั้งนี้ จะสร้างความมั่นใจแก่นักธุรกิจเกาหลีใต้ที่จะตัดสินใจลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น
นายนฤตม์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากกิจกรรมสัมมนาในวันนี้แล้ว บีโอไอโดยกองพัฒนาและเชื่อมโยงการลงทุน (BUILD) ยังร่วมกับสมาคมผู้ประกอบการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติไทย (Thai Automation and Robotics Association: TARA) จัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ ระหว่างนักธุรกิจเกาหลีใต้กับผู้ประกอบการของไทยจำนวนกว่า 30 ราย ในกลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และ อุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ เช่น ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น นอกจากนี้ บีโอไอจะนำคณะนักธุรกิจเกาหลีใต้ เดินทางไปเยี่ยมชมพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) อีกด้วย
สำหรับภาพรวมการลงทุนของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ตั้งแต่เริ่มใช้นโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่เมื่อปี 2558 จนถึงเดือนมิถุนายน 2561 มีผู้ยื่นขอรับการส่งเสริมในกิจการผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจำนวน 39 โครงการ เงินลงทุน 3,351 ล้านบาท นอกจากนี้ มาตรกระตุ้นผู้ใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต มีผู้ขอรับการส่งเสริมจำนวน 55 โครงการ เงินลงทุนรวม 18,958 ล้านบาท
ในส่วนของการลงทุนจากเกาหลีใต้ ปัจจุบันเกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนสูงเป็นอันดับ 8 โดยตั้งแต่ปี 2558 จนถึงเดือนมิถุนายน 2561 มีโครงการจากเกาหลีใต้ขอรับการส่งเสริมทั้งหมด 92 โครงการ เงินลงทุนรวม 14,737 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ ชิ้นส่วนเครื่องจักร และอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์
นายลี ฮยอก เลขาธิการศูนย์อาเซียน โคเรีย เซ็นเตอร์ กล่าวว่า นักลงทุนจากเกาหลีใต้ได้รับการยอมรับถึงศักยภาพในการเป็นผู้พัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในระดับที่ดี และมีความสนใจที่จะขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันอุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทย ที่รัฐบาลมุ่งส่งเสริมให้เกิดการลงทุนอย่างจริงจัง ภายใต้การให้สิทธิประโยชน์หลากหลาย กิจกรรมสัมมนาครั้งนี้จึงเป็นการให้ข้อมูลเพื่อช่วยให้นักธุรกิจที่สนใจได้ทราบโอกาสและลู่ทางการลงทุนในประเทศไทยโดยตรง
ขณะเดียวกันการจัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจ และลงพื้นที่อีอีซี จะยิ่งทำให้นักธุรกิจเกาหลีใต้ที่อยู่ระหว่างตัดสินใจขยายการลงทุน ได้พิจารณาถึงศักยภาพและโอกาสการลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น และอาจรรวมไปถึงโอกาสการเชื่อมโยงไปสู่ตลาดอื่นๆ ในอาเซียนต่อไป