กรุงเทพฯ--25 ธ.ค.--อินเทอร์เน็ตปรเทศไทย
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 จนถึงวันนี้ก็เกือบ 3 ปี ที่เกิดโศกนาฎกรรมครั้งใหญ่คลื่นยักษ์สึนามิถล่ม 6 จังหวัดภาคใต้ คร่าชีวิตผู้คนทั้งคนไทยและชาวต่างชาติไปจำนวนมาก เหตุการณ์ดังกล่าวถือว่าเป็นเหตุการณ์ใหญ่ที่ส่งผลเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน
ในครั้งนั้นมีผู้บริหารของไอเน็ตท่านหนึ่ง ที่ได้มีโอกาสร่วมเป็นอาสาสมัครฯในช่วงเหตุการณ์ดังกล่าว เห็นความจำเป็นของข้อมูลข่าวสาร และการจัดการกับภัยพิบัติ และการบรรเทาทุกข์ให้กับผู้ประสบภัย และเชื่อว่าไอทีสามารถประสานงานให้เกิดความต้องการที่ตรงกันได้ จึงเป็นที่มาของโครงการ "OpenCARE" ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากองค์กร หน่วยงานราชการ NGO ห้างร้านตลอดจนองค์กรระหว่างประเทศ อาจกล่าวได้ว่า "OpenCARE" เป็นของขวัญจากประเทศไทยให้กับประชาคมโลก
นายตฤณ ตัณฑเศรษฐี กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะคณะทำงานโครงการ "OpenCARE" ได้กล่าวถึงโครงการฯ นี้ว่า "OpenCARE" ย่อมาจากคำว่า "Open exchange for Collaborative Activities in Response to Emergency" โดยรวมคือ เครือข่ายสื่อสาร และประสานแลกเปลี่ยนข้อมูลและแจ้งเตือนภัยพิบัติ ทั้งนี้คำว่า "Open" มาจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า "Open Source" ซึ่งเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ไม่มีลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้งาน
ทั้งนี้ เพื่อให้ซอฟแวร์ที่ใช้กับเครือข่ายนี้เป็นซอฟแวร์ที่ไม่ผูกติดกับลิขสิทธิ์ใดๆ ที่จะก่อให้บุคคลใดมีผลประโยชน์ในเชิงธุรกิจ เนื่องจากเครือข่าย "OpenCARE" เป็นเครือข่ายที่อยู่ในลักษณะของ Non - Profit ซึ่งทางไอเน็ตเป็นผู้ริเริ่มและคิดค้นขึ้นเพื่อให้เป็นเครือข่ายเพื่อสังคม โดยมีเจตนาที่จะให้ความช่วยเหลือต่างๆ ตกไปถึงยังประชาชนอย่างแท้จริง ทั้งนี้ โดยการสนับสนุนจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ที่จะผลักดันให้เป็นเครือข่ายสื่อสารสำหรับกรณีพิบัติภัยที่เป็นมาตรฐานสากล
"OpenCARE" มีคุณสมบัติสำคัญดังนี้ คือ
1) เป็นเครือข่ายสื่อสารที่ไม่จำกัดระยะทางในการติดต่อสื่อสาร
2) ราคาไม่สูงจนทำให้มีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ
3) ไม่จำเป็นต้องอบรมหรือฝึกฝนให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้งานเครือข่าย
4) ไม่จำกัดแบบ หรือ plat form ทางเทคนิคในการทำงาน
จากคุณลักษณะข้างต้นทำให้เครือข่าย "OpenCARE" ง่ายต่อการใช้งานอย่างยิ่ง องค์กรหรือหน่วยงานที่เข้าร่วมใช้เครือข่ายไม่จำเป็นต้องจัดตั้งงบประมาณเพื่อจัดซื้อ หรือจัดหาอะไรเพิ่มเติมเป็นการประหยัดงบประมาณของประเทศ เจ้าหน้าที่ที่ใช้งานไม่จำเป็นต้องมีการฝึกฝนอะไรเพิ่มเติม การทำงานยังคงเป็นไปตามที่ได้เคยปฏิบัติ และที่สำคัญอีกประการหนึ่งซึ่งเป็นเหตุผลในทางเทคนิคของโปรแกรมคอมพิวเตอร์คือ สามารถทำให้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้ plat form ทางคอมพิวเตอร์ที่แตกต่างกัน สามารถสื่อสารถึงกันได้ โดยไม่ต้องทำการย้าย หรือดัดแปลงเครื่องและอุปกรณ์ใดๆทั้งสิ้น
"และด้วยการสนับสนุนของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) (INET) จึงได้ผลักดันเครือข่าย "OpenCARE" เข้าสู่ระดับนานาชาติ และได้รับการยอมรับในเวทีโลกอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าสู่มาตรฐานสากล ISO โดย ISO ได้ทำการจัดตั้งกลุ่มเพื่อพิจารณาจัดทำมาตรฐานการสื่อสารสำหรับกรณีพิบัติภัย โดยใช้ชื่อว่า ISO/TC223 ซึ่งขณะนี้ "OpenCARE" ได้รับการยอมรับจากการพิจารณาของกลุ่มนี้เป็นอย่างยิ่ง จึงหวังได้ว่าในอนาคตอันใกล้นี้จะมีเครือข่ายสื่อสารเพื่อกรณีพิบัติภัยระดับสากลที่คิดค้นโดยคนไทย และเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติถือเป็นของขวัญจากประเทศไทยสู่ประชาคมโลกอย่างแท้จริง" คุณตฤณกล่าวทิ้งท้าย
ข่าวประชาสัมพันธ์โดย : ฝ่ายการตลาด บริษัท อินเทอร์เน็ตปรเทศไทย จำกัด (มหาชน)
ข้อมูลเพิ่มเติม : พรประภา ธรรมสนอง (pornpapa@inet.co.th)
โทร. 0-2257-7000 ต่อ 7044