กรุงเทพฯ--5 ก.ย.--พีอาร์ ทีพี
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. โดยสำนักงานพื้นที่พิเศษ 4 (อพท.4) เขตพัฒนาการท่องเที่ยวมรดกโลกด้านวัฒนธรรม (สุโขทัย กำแพงเพชร ตาก พิษณุโลก) สร้างกลไกการพัฒนากิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ให้ตอบสนองกลไกด้านการตลาด เพื่อขับเคลื่อนระบบการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งได้พัฒนากิจกรรมท่องเที่ยวร่วมกับชุมชน และจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดในงาน "มรดกวัฒนธรรม รู้ Learn เพลิน สัมผัส สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร" นำเสนอกิจกรรมและเส้นทางท่องเที่ยวในงานไทยเที่ยวไทย แฟร์ ครั้งที่ 48 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 30 ส.ค. – 2 ก.ย. 2561 ที่ผ่านมา
ภายใต้โครงการสร้างและพัฒนากลไกการขับเคลื่อนการจัดการการท่องเที่ยวในจังหวัดสุโขทัยและกำแพงเพชร ปี 2561 ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรในชุมชนแหล่งท่องเที่ยวและเพื่อบูรณาการกลไกเครือข่ายการบริหารจัดการการท่องเที่ยวที่อย่างยั่งยืน อพท.4 จึงพัฒนากิจกรรมท่องเที่ยวจำนวน 6 กิจกรรม และเส้นทางท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรมจำนวน 1 เส้นทาง พร้อมจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดขึ้นในงาน "มรดกวัฒนธรรม รู้ Learn เพลิน สัมผัส สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร" จำนวน 4 วัน ในงานไทยเที่ยวไทย แฟร์ ครั้งที่ผ่านมาล่าสุด ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
นายประครอง สายจันทร์ ผู้จัดการ อพท.4 กล่าวว่า "กลไกการขับเคลื่อนการจัดการการท่องเที่ยวนั้น หมายถึง บุคลากรทางการท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งทำงานอย่างประสานสอดคล้องกันเป็นระบบ เพื่อให้เกิดการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพราะกระบวนการทำงานของบุคลากรแต่ละภาคส่วนล้วนมีปฏิกิริยาต่อเนื่องกัน ดังนั้น อพท. จึงได้พัฒนาชุมชนหรือผู้ประกอบกิจกรรมท่องเที่ยวและพัฒนามัคคุเทศก์ท้องถิ่นให้สามารถให้บริการด้านท่องเที่ยวได้อย่างประสิทธิภาพ เพื่อตอบสนองต่อกลไกทางการตลาดหรือนักท่องเที่ยวได้ หากพัฒนากิจกรรมหรือเส้นทางท่องเที่ยวแล้วไม่โดนใจนักท่องเที่ยวก็จะไม่เกิดผลในแง่เศรษฐกิจกับท้องถิ่นเลย นอกจากนี้ การพัฒนากิจกรรมท่องเที่ยวและเส้นทางท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรมนั้นเป็นการใช้ประโยชน์จากมรดกวัฒนธรรมมาต่อยอดสร้างคุณค่าให้ดำรงรักษาไว้ต่อไปได้ อพท. จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาการท่องเที่ยวและการสร้างสินค้าการท่องเที่ยวทางเลือกใหม่ ด้วยการใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมต่อยอดรากฐานวัฒนธรรมไปสู่การบริการด้านการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นท่องเที่ยวกระแสหลัก หรือการท่องเที่ยวโดยชุมชนก็ตาม
สำหรับการการจัดงานส่งเสริมการตลาดในงานไทยเที่ยวไทยนั้น อพท. จัดขึ้นเพื่อทดสอบตลาดด้านนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายและด้านราคา และเพื่อให้ชุมชนเจ้าของกิจกรรมท่องเที่ยวได้พัฒนาฝีมือและแนวคิดการให้บริการ ซึ่งจากการกำหนดคอนเซ็ปการจัดงานออกบูธในงานไทยเที่ยวไทยไว้ว่า "เที่ยวถึงแก่น Be Cultural Traveler Hacks" นั้น อพท. มีแนวคิดว่าการเป็นนักท่องเที่ยวสายวัฒนธรรมถ้าจะเที่ยวให้ถึงแก่นจะต้องสัมผัสถึงภูมิปัญญา ซึ่งอาจจะฝากฝีมือของคุณเองไว้ในของที่ระลึกที่มีชิ้นเดียวในโลก ภายในบูธจึงประกอบด้วยกิจกรรม การพิมพ์พระแบบโบราณ ในชื่อกิจกรรม "พิมพ์พระพิมพ์ใจ สืบศรัทธาในพุทธศาสนา" การพิมพ์ภาพจากผงศิลาแลง ในชื่อกิจกรรม "พิมพ์ภาพ เสน่ห์ศิลาแลงกำแพงเพชร" การพันเส้นไหมพรหมเป็นเครื่องประดับตกแต่งที่ใช้ในพิธีกรรมแห่งธงทางพุทธศาสจนา ในชื่อกิจกรรม "มัดไหมทานตะเวน สีสันแห่งศรัทธาชาวไทครั่งศรีสัชนาลัย" การลงยาบนแหวนเงินแท้ที่มีความบริสุทธิ์ถึง 99% ในชื่อกิจกรรม "แหวนเงินลงยา สีที่เห็นอาจไม่ใช่สีที่เป็น" การร้อยกระดิ่ง สร้อยข้อมือ หรือสร้อยข้อ จากดินปั้นและเขียนลายปลาหรือดอกไม้อันเป็นลวดลายเครื่องสังคโลก หรือเขียนลายสือไทลงไป ในชื่อกิจกรรม "ร้อยสุขดินปั้นของกำนัลจากลายสุโขทัย" และนำเสนอการแต่งกายชุดไทยที่เป็นมงคลแก่ชีวิต ในชื่อกิจกรรม "นุ่งห่มสมอยู่ในเรือนไทยกำแพงเพชรตามตำราสวัสดิรักษา" ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่ากิจกรรมท่องเที่ยวที่ อพท. ยกไปเผยแพร่นั้น มีทั้งกิจกรรมที่คงความเดิมแท้ และกิจกรรมที่ประยุกต์ให้เกิดความร่วมสมัยมีความใกล้เคียงกับชีวิตประจำวันของคนในโลกปัจจุบัน แต่ทุกกิจกรรมลงมือสร้างสรรค์ได้ไม่ยากจนเกินไป และใช้ขั้นตอนไม่มาก ใช้เวลาไม่เกิน 20 นาที ขึ้นอยู่กับความสนใจของนักท่องเที่ยว
นอกจากนี้ยังได้นำเสนอเส้นทางการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ คือ "ส่องสัตว์ศิลปะพระร่วง" ด้วยการตามหาสัตว์อัศจรรย์เมืองพระร่วงทั้งในแหล่งโบราณสถานและแหล่งผลิตงานหัตถกรรมของชุมชน สิรวีย์ เอี่ยมสุดใจ มัคคุเทศก์เชี่ยวชาญมรดกโลก ผู้สร้างสรรค์เส้นทางนี้ด้วยประสบการณ์และความตั้งใจ กล่าวว่า หัวใจของแนวคิดส่องสัตว์ มิได้จำกัดอยู่ที่ตัวสัตว์ แต่อยู่ที่ปรัชญาความเป็น "เมืองพระร่วง" เพราะศิลปกรรมรูปสัตว์ เป็นสื่อเล่าเรื่องสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับวัฒนธรรม ซึ่งนักท่องเที่ยวจะรู้สึกได้ว่าศิลปะปูนปั้นหรืองานหัตถกรรมต่างๆ เหล่านั้นไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวเลย อาจจะรู้สึกถึงความผูกพันกับเมืองมรดกโลกอย่างสุโขทัย หรือศรีสัชนาลัย หรือกำแพงเพชรก็เป็นได้ ซึ่ง อพท. เล็งเห็นเส้นทางส่องสัตว์ศิลปะพระร่วงสามารถสร้างคุณค่าให้กับโบราณสถานและวิถีชีวิตของช่างฝีมือท้องถิ่นได้ จึงได้พัฒนาเป็นเส้นทางท่องเที่ยวร่วมกับชมรมมัคคุเทศก์แผ่นดินพระร่วง สำหรับนักท่องเที่ยวที่มิได้ต้องการเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์เพียงอย่างเดียวแต่สำหรับคนต้องการหาแรงบันดาลใจบางอย่างด้วย"
นายประครอง สายจันทร์ ผู้จัดการ อพท.4 กล่าวเสริมว่า "กระบวนการพัฒนากิจกรรมท่องเที่ยวและเส้นทางท่องเที่ยวก่อนที่จะมาเผยแพร่สู่สาธารณชนได้นั้น จำเป็นต้องผ่านกระบวนการคิด ทดสอบ วิเคราะห์ และประเมินผลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลังจากงานออกบูธก็จะมีการต่อยอดการบริการด้านการท่องเที่ยวต่อไป เพื่อสร้างความพอใจให้กับนักท่องเที่ยว ขณะเดียวกันชุมชนผู้เป็นเจ้าของแหล่งท่องเที่ยวก็ยังคงรักษาตัวตนและอัตลักษณ์ไว้ได้"
ผลการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดเพื่อพัฒนาศักยภาพชุมชนผู้ให้บริการกิจกรรมท่องเที่ยวในครั้งนี้ ชุมชนได้ประโยชน์ในแง่ต่างๆ เช่น การตั้งราคาที่เหมาะสม การต่อยอดชิ้นงานให้ใช้งานได้หลากหลาย ความต้องการของนักท่องเที่ยวที่แตกต่างไปตามอายุ กิจกรรมท่องเที่ยวที่พัฒนาขึ้นมานั้นเหมาะกับนักท่องเที่ยวกลุ่มใด เช่น เด็กและครอบครัว การนำเสนอเรื่องราวให้น่าสนใจยิ่งขึ้นเพื่อให้เห็นพัฒนาการของชิ้นงานจากอดีตสู่ปัจจุบัน การพัฒนารูปแบบการบริการเพื่อให้สะดวกกับนักท่องเที่ยว การต่อยอดกิจกรรมออกไปให้หลากหลายยิ่งขึ้น นักท่องเที่ยวได้ของที่ระลึกที่จะนำกลับไปหลากหลายตามความสนใจ นักท่องเที่ยวบางคนต้องการให้งาน DIY ยากขึ้นอีกนิด เพราะมองว่าเป็นความท้าทาย
นอกจากนี้ อพท. ยังได้จัดทำแบบสำรวจว่านักท่องเที่ยวที่เดินภายในงานไทยเที่ยวนั้น คนที่เคยไปและไม่เคยไปจังหวัดสุโขทัย มีจำนวนร้อยละ 50 เท่ากัน โดยที่ร้อยละ 63 ของคนที่เคยไปแล้วอยากกลับไปเที่ยวซ้ำ และร้อยละ 47 เคยไปเที่ยวจังหวัดกำแพงเพชรแล้ว โดยมีคนที่อยากกลับไปเที่ยวอีกถึงร้อยละ 75