กรุงเทพฯ--5 ก.ย.--กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรียกเจ้าหน้าที่ 22 จังหวัดชายทะเล วางแนวทางตรวจแรงงานในกิจการประมงทะเล เน้นสร้างความชัดเจนให้แก่ผู้เกี่ยวข้องและไม่เป็นภาระแก่นายจ้าง เจ้าของเรือ ควบคู่การบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU Fishing) ซึ่งพลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้กำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วนในการผลักดันให้การละเมิดสิทธิด้านแรงงานลดลงและหมดสิ้นไปในที่สุด กสร. ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจสำคัญในการกำกับดูแลและคุ้มครองให้แรงงานได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนดและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้ประกาศใช้กฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ในการคุ้มครองแรงงานในกิจการประมงทะเลให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เช่น การกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างในอัตรารายเดือนโดยจ่ายไม่น้อยกว่าเดือนละครั้ง กำหนดให้นายจ้างซึ่งทำการประมงนอกน่านน้ำไทยจัดให้มีอุปกรณ์หรือระบบการสื่อสารรับส่งข้อความผ่านดาวเทียมเพื่อให้ลูกจ้างสามารถติดต่อกับเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐ สามี ภริยา หรือญาติ ได้ตลอดเวลาโดยนายจ้างเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย รวมถึงการกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างค่าตอบแทนให้กับลูกจ้างโดยวิธีการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารโดยนายจ้างเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการโอนเงิน เป็นต้น นอกจากนี้ กสร. ได้แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการคุ้มครองแรงงานในกิจการประมงทะเล ประกอบด้วย ผู้แทนจากสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางการปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
อธิบดีกสร. กล่าวต่อไปว่า เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปในทิศทางเดียวกัน กสร.ได้จัดการอบรมแนวทางการตรวจและการดำเนินคดีตามระเบียบกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานว่าด้วยการตรวจแรงงานและการดำเนินคดีอาญาผู้กระทำความผิดตาม กฎกระทรวง ว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ในงานประมงทะเล พ.ศ. 2561 ขึ้นระหว่างวันที่ 3 – 4 กันยายน 2561 ณ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กรุงเทพฯโดยเชิญสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดและนิติกรในพื้นที่ 22 จังหวัดติดชายทะเล รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากส่วนกลาง จำนวน 50 คน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานมีแนวทางในการปฏิบัติงานทั้งในเรื่องการตรวจแรงงานการสร้างความเข้าใจแก่นายจ้าง เจ้าของเรือให้สามารถปฏิบัติตามแนวทางที่กฎหมายกำหนดได้อย่างถูกต้อง โดยไม่เป็นภาระแก่นายจ้าง เจ้าของเรือ ซึ่งจะส่งผลให้แรงงานในเรือประมงทะเลไม่ถูกละเมิดสิทธิด้านแรงงาน รวมทั้งส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU Fishing) อีกทางหนึ่งด้วย