กรุงเทพฯ--5 ก.ย.--กรมวิทยาศาสตร์บริการ
กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดงานเปิดตัว "คัลเลอร์ ไอดี เลเบลลิ่ง" (Color ID Labeling) แอพพลิเคชั่น สำหรับคนรักผ้าไทย ภายใต้โครงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติ ที่เปรียบเสมือน แคตตาล็อกรวบรวมความงามของผ้าไทยจากหลายท้องถิ่น มาให้เลือกชมเพียงปลายนิ้วสัมผัส พร้อมนิทรรศการผ้าไทยที่คัดสรรฝีมือจากเหล่าช่างชั้นครูมาจัดแสดงให้ชมอย่างใกล้ชิด รวมถึงแฟชั่นโชว์เสื้อผ้าดีไซน์พิเศษ "กลีบใบ เฮือไฟ (เรือไฟ) สายน้ำ" (Blue voyage and Passage of Petals) ที่นำความงดงามทางธรรมชาติมาผสมผสานกับอัตลักษณ์ของผ้าไทยได้อย่างสวยงาม โดยมี นางอุมาพร สุขม่วง อธิบดี กรมวิทยาศาสตร์บริการ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ซึ่งภายในงานมีดีไซน์เนอร์และเซเลบริตี้ชื่อดังเข้าร่วมงานกันอย่างคับคั่ง ณ ร้าน QUAINT ซอยสุขุมวิท 61
นางอุมาพรฯ กล่าวถึงจุดเด่นของแอพพลิเคชั่นและแนวคิดหลักในการจัดงานครั้งนี้ว่า กรมวิทยาศาสตร์บริการ ต้องการยกระดับผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มคนที่ชื่นชอบผ้าไทย รวมถึงกลุ่มดีไซน์เนอร์ที่ต้องการใช้ผ้าไทยในการออกแบบเสื้อผ้า โครงการนี้จึงได้รวบรวมแหล่งผลิตผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติที่ดีที่สุดเอาไว้บนแอพพลิเคชั่นคัลเลอร์ ไอดี เลเบลลิ่ง ซึ่งแหล่งผลิตผ้าแต่ละแห่งจะมีจุดเด่นการทอผ้าและย้อมสีที่แตกต่างกัน จึงได้ใช้เทคนิคทางวิทยาศาสตร์ในการวิเคราะห์ค่าสีเพื่อกำหนดเฉดสีออกมาในรูปแบบรหัสตัวเลขที่เป็นสากล ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการอ่านค่าสีให้กับผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติ เพื่อให้ผู้ใช้แอพฯ สามารถเลือกเฉดสีผ้าที่ต้องการได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น และยังสามารถสั่งผลิตกับทีมช่างได้โดยตรงจากข้อมูลแหล่งผลิตภายในแอพฯ ซึ่งภายในได้จัดเป็นนิทรรศการผ้าไทยนำเสนออัตลักษณ์การออกแบบลวดลายผ้าของทั้ง 20 แห่ง พร้อมมีเหล่าทีมช่างผู้ผลิตมาร่วมพูดคุยถึงเทคนิคการทอผ้าและย้อมสี โดยกรมวิทยาศาสตร์บริการหวังว่าแอพพลิเคชั่นนี้จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนที่ชื่นชอบผ้าไทย และสามารถเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการผ้าทอในประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ทั้งนี้ คัลเลอร์ ไอดี เลเบลลิ่ง (Color ID Labeling) เป็นแอพพลิเคชั่นที่รวบรวมความงดงามของผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติของคนไทยจากแหล่งที่ดีที่สุดจำนวน 20 แห่ง จาก 6 จังหวัด ได้แก่ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ โดยมีจุดเด่นอยู่ที่เทคนิคการวิเคราะห์ค่าสีที่ทางกรมวิทยาศาสตร์บริการได้นำมาใช้จำแนกเอกลักษณ์ของกลุ่มทอผ้า จากเฉดสีของผ้าที่มีความแตกต่างกันตามวัตถุดิบทางธรรมชาติที่ช่างแต่ละกลุ่มได้เลือกใช้ในการย้อม ประกอบกับเทคโนโลยี QR Code และ AR Code ที่สามารถแสดงถึงกระบวนการผลิตทั้งในรูปแบบของภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว เผื่อให้เหล่าคนรักผ้าไทยได้สัมผัสถึงวิถีชีวิตการทอผ้าไทยได้อย่างแท้จริง อีกทั้งยังตอบโจทย์การทำงานของเหล่านักดีไซน์ยุคใหม่ที่ต้องการแหล่งผลิตผ้าไทยย้อมสีธรรมชาติคุณภาพดี