กรุงเทพฯ--5 ก.ย.--2010 ครีเอชั่น แอนด์ คลีน
ข้อมูลจากภาพรวมพื้นที่ปลูกทุเรียนจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมส่งเสริมการเกษตร ระบุว่าปี 2559 มีพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นเป็น 621,689 ไร่ และมีผลผลิตรวมทั้งสิ้น 613,593 ตัน ทั้งหมดร้อยละ 89.59 เป็นทุเรียนหมอนทอง ปี 2560 มีพื้นที่ให้ผลทั้งหมด 581,659 ไร่ มีผลผลิตทั้งสิ้น 517,955 ตัน คาดว่าปี 2561 จะมีพื้นที่ปลูกทุเรียนซึ่งสามารถให้ผลผลิตได้แล้วทั้งหมด 611,186 ไร่ จากข้อมูลทั้งหมดแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ปลูกทุเรียนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นทุกปี ดูรายจังหวัด ข้อมูลในปี 2559 พบว่าจันทบุรีเป็นจังหวัดที่ปลูกทุเรียนมากที่สุดมีพื้นที่ปลูกทั้งหมด 165,046 ไร่ รองมาเป็นจังหวัดชุมพร 138,801 ไร่ นครศรีธรรมราช 60,194 ไร่ ระยอง 52,706 ไร่ สุราษฎร์ธานี 46,113 ไร่ นอกจากนี้ข้อมูลยังเผยให้เห็นว่า ไม่ได้มีแต่เพียงภาคใต้หรือภาคตะวันออกเท่านั้นที่มีการปลูกทุเรียน การขยายพื้นที่เพราะปลูกนั่นเป็นการตอบสนองความต้องการของตลาดที่มีจำนวนมาก โดยเฉพาะตลาดส่งออก ตลาดส่งออกหลักอยู่ที่ จีน เวียดนาม และฮ่องกง มูลค่าการการส่งออกทุเรียนสดให้กับ 3 ประเทศในปี 2560 มีมูลค่า 21,239.46 ล้านบาท จากมูลค่าทั้งหมด 22,098.44 ล้านบาท
จากความต้องการตลาดที่มีสูง ทำให้เกษตรกรหันมาพัฒนาคุณภาพการปลูก รวมถึงการขยายช่องทางการปลูกนอกฤดูกาลเพิ่ม โดยเฉพาะเกษตรกรในพื้นที่ตำบลบ้านนา อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ส่วนใหญ่ปลูกไม้ผล ร้อยละ75 และเป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการปลูกไม้ผลร้อยละ 65 โดยปลูกไม้ผลเพื่อจำหน่ายโดยเฉพาะทุเรียน เพราะเป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนด้านรายได้สูงกว่าพืชอื่นๆ โดยเฉพาะเกษตรกรสามารถผลิตทุเรียนให้ออกนอกฤดูการผลิตได้เกษตรกรจะสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้นจากในฤดูกาล 3-5 เท่า
นายดำรงค์ศักดิ์ สินศักดิ์ สมาชิกเกษตรกรทุเรียนแปลงใหญ่ ตำบลบ้านนา ภายใต้การสนับสนุนของ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร
เกษตรกรชาวสวนทุเรียน มีประสบการณ์มากว่า 20 ปี เปิดเผยว่า เป็นสมาชิกกลุ่มชาวสวนทุเรียนใหญ่ตำบลบ้านนา ที่มีสมาชิกกว่า50 ราย พื้นที่ปลูกทุเรียน 600 -1,000 ไร่ ภายใต้การสนับสนุน ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอเมือง ต่างมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพทุเรียนในการปลูกนอกฤดูกาล หรือปลูกทุเรียนทะวาย
ปลูกทุเรียนทะวายรายได้เพิ่ม 2เท่าตัว
สำหรับทุเรียนแปลงของตนเองที่ปลูกมี จำนวน 38 ไร่ ประมาณ 400 กว่าต้น เริ่มปลูกทุเรียนทะวายมาตั้งแต่ปี 2539 ประสบความสำเร็จอย่างดี เนื่องจากพื้นที่มีสภาพอากาศที่เหมาะสม และนำประสบการณ์ที่ปลูกทุเรียนมากว่า 20 ปี มาต่อยอดพัฒนาดูและเอาใจใส่ โดยปลูกทุเรียนทะวายไร่หนึ่งไม่เกิน 11 ต้น มีระยะห่างในการดูแล การปลูกจะใช้วิธีการต่อยอด หรือทาบกิ่งกับต้นทุเรียนบ้าน เมื่อช่วงระยะเวลาออกผลจะมีการตัดแต่งผลให้มีปริมาณที่พอเหมาะ โดยเฉลี่ยต้นละ 200 ผล หรือ 1 ตันต่อต้น เพราะในปริมาณนี้ ผลจะมีขนาดสวยไม่ใหญ่หรือเล็ก เป็นไซส์เบอร์หนึ่ง ขนาด 5 กิโลกว่าๆ เนื้อรสชาติดี และได้ราคาดีกิโลกรัมละ 80-100 บาท ลดต้นทุนคนงานและวัสดุการเกษตรด้วย
ผลผลิตขายปีหลังจากปรับทุเรียนรายปีเป็นทุเรียนทะวายจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น2 เท่าตัว จากเดิมมีรายไปปีละ300,000-400,000 บาท
เทคนิคการปลูกให้ได้ผลอย่างมีคุณภาพ
การปลูกทุเรียนนอกฤดูกาล หรือทุเรียนทะวายนั้น จะต้องคำนึงพิจารณาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในพื้นที่ ที่เหมาะสมจะส่งผลให้ทุเรียนออกดอก การเลือกต้นทำทุเรียนทะวายจะต้องเป็นต้นที่มีอายุ 5-7 ปี ต้นที่สมบูรณ์ การปลูกจะประสบความสำเร็จรึไม่ขึ้นอยู่กับความเอาใจใส่ของเจ้าของสวนในทุกขึ้นตอน ตั้งแต่การเลือกวิธีเพาะพันธุ์ โดยที่สวนของตนนั้นจะใช้วิธีการ ต่อยอด ทาบกิ่งพันธุ์หมอนทอง บนต้นทุเรียนบ้าน โดยปลูกเมล็ดทุเรียนบ้าน 1ปี จะได้ต้นทุเรียนบ้านไว้ทาบกิ่ง หรือ ต่อยอด เพราะวิธีการดังกล่าวจะได้ต้นทุเรียนที่แข็งแรง ยืนต้น มีรากแก้วที่ช่วยดูดซึมอาหารได้ดี ต้านทานโรค ต้านทานแรงลม ผลออกมารสชาติดีกว่าเพราะผึ้งจะผสมเกสรดอกทุเรียนบ้นและทุเรียนพันธุ์หมอนทองเข้าด้วยกัน แตกต่างจากการใช้ต้นพันธุ์ทุเรียนหมอนทองจากการชำถุง ซึ่งจะมีข้อดีที่ใช้สะดวก ปลูกได้รวดเร็ว แต่ไม่มีรากแก้วไว้ดูดซึมอาหาร ไม่ต้านลมโค่นล้มง่าย ต้านทานโรคได้น้อยกว่า
ตลาดเย้ายวนเกษตรกรแห่ปลูกลืมตระหนักข้อคิดที่น่าสะพรึง
ข้อมูลจากสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ ตลาดส่งออกผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง 15 อันดับ ตั้งแต่ปี 2558-2561 พบการส่งออกทุเรียนของประเทศไทยนั้นมีตลาดส่งออกหลักอยู่ที่ จีน เวียดนาม และฮ่องกง มูลค่าการการส่งออกทุเรียนสดให้กับ 3 ประเทศในปี 2560 มีมูลค่า 21,239.46 ล้านบาท ความต้องการซื้อที่มหาศาลจากประเทศจีน ส่งผลให้เกษตรกรมาปลูกทุเรียนเพิ่มมากขึ้น โค่นยางปลูกทุเรียน โค่นมังคุดปลูกทุเรียน
นายดำรงศักดิ์ สินศักดิ์ กล่าวต่อว่า กระแสทุเรียนมาแรง เกษตรกรแห่ปลูกเพราะเล็งเห็นราคาดี จนลืมคำนึงว่า อีก 4-5ปี ราคาอาจจะตก เพราะทุเรียนล้นตลาดสภาพอาจจะไม่ต่างกับสวนยาง ลำไย เพราะอีก 4-5 ปี คู่แข่งที่จะขายมีมากขึ้นไม่เฉพาะของสวนทุเรียนไทย ยังมีประเทศเพื่อนบ้าน ลาว เวียดนาม กัมพูชา ที่ประเทศเหล่านี้อยู่ใกล้ประเทศจีนมากกว่า ต้นทุนถูกกว่า ที่น่าห่วงหนัก คือเกษตรกรรายย่อยที่ไม่มีทุนต่อยอดเหมือนรายใหญ่ๆ ในขณะเดียวกันยังมีปัญหา ล้งลานรับซื้อกับพ่อค้าจับมือกันขายทุเรียนอ่อนเพื่อทุบตลาดรับซื้อในราคาต่ำที่ยังแก้ปัญหาไม่ได้ ส่งผลต่อภาพลักษณ์ทุเรียนไทยในการส่งออก ด้วยปัจจัยทั้งหมดนี้ จะส่งผลลบต่อการทำตลาดทุเรียนไทย และ สะท้อนกลับมายังชาวสวนทุเรียนในอนาคต จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ปลูกทุเรียนต้องคำนึงและภาครัฐจะต้องเข้ามาแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
https://www.youtube.com/watch?v=VgmSBoUX_OA
https://www.youtube.com/watch?v=7fgArkoDGjE
https://www.youtube.com/watch?v=5idHQjl_NTo