กรุงเทพฯ--6 ก.ย.--มีเดีย แพลนเนอร์ คอนซัลแทนท์
บล.ไอร่า ประเมินแนวโน้มตลาดหุ้นไทยเดือนกันยายน แกว่งตัวเหตุยังคงเจอแรงกดดันจากต่างประเทศทั้งปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนส่อบานปลายหนัก หลังสหรัฐเรียกเก็บภาษีเพิ่มอีก บวกการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในช่วงที่เหลือของปีนี้อีก 2 รอบ แม้ปัจจัยในประเทศยังมีแรงหนุนจากการคาดการร์การทำ Window Dressing ปิดงบไตรมาส 3/2561 สิ้นเดือนก.ย. รวมถึงสถานการณ์ทางการเมือง ที่ดีขึ้นหลังกำหนดวันเลือกตั้ง 24 ก.พ.62 แนะนำกลยุทธ์ลงทุนในหุ้นที่รับอานิสงส์เศรษฐกิจโต ชู CBG-COM7-CK-KCE-MTC-PTT-TRUE
นางจิตรลดา เลขาพันธ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ไอร่า จำกัด (มหาชน) หรือ AS เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดหุ้นในเดือนกันยายน ได้รับปัจจัยบวกจาก Window Dressing ปิดงบการเงินไตรมาส 3/2561 ในช่วงปลายเดือนก.ย. รวมถึงประเด็นการเมือง ที่คาดว่า Sentiment ดีขึ้นตามลำดับ หลังกำหนดวันเลือกตั้ง เบื้องต้น 24 ก.พ. 2562 พร้อมใช้ ม.44 ปลดล๊อคพรรคการเมือง คาดสามารถทำกิจกรรมการเมืองได้ช่วง ก.ย.–ธ.ค.2561 หลัง กม.ลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. และการได้มาซึ่ง สว. ประกาศใช้ และ Thailand Future Fund มูลค่า 45,000 ล้านบาท แผนขายหน่วยลงทุน ต.ค. นี้ และคาดเข้าจดทะเบียนฯ พ.ย.
ส่วนปัจจัยที่ยังคงกดดันภาพรวมการลงทุนในเดือนนี้มาจาก Fund Flow ต่างชาติขายสุทธิ 10,418 ล้านบาท ทรงตัวจากเดือนก่อน ขณะที่ยอดขายสุทธิสะสมในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ระดับ 201,117 ล้านบาท หรือประมาณ 6,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดในกลุ่ม TIP โดยอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ยอดขายสุทธิสะสมอยู่ที่ประมาณ 3,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ อย่างไรก็ตามตลาดพันธบัตรต่างชาติซื้อสุทธิ ประมาณ 5,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับปัจจัยที่ยังคงต้องจับตาสำหรับเดือยกันยายนนี้ คือ การประชุม กนง. ในวันที่ 19 ก.ย.61 คาดยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.50%ต่อปี แต่คาดอาจเริ่มส่งสัญญาณลดการใช้นโยบายผ่อนคลายลง หลังเศรษฐกิจขยายตัวดีต่อเนื่อง และอัตราเงินเฟ้อเข้าสู่เป้าหมาย คาดอาจเริ่มพิจารณาปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยปลายปี 61 ถึงต้นปี 62 รวมถึงการประชุมเฟด ในวันที่ 25 – 26 ก.ย.61) คาดขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 3 พร้อมคาดเกิดขึ้นอีก 1 ครั้งในเดือน ธ.ค. (18 -19/12/61) คาดรวมทั้งหมด 4 ครั้งในปี 61 คาดอัตราดอกเบี้ยสิ้นปี 61 อยู่ที่ 2.25 - 2.50% ขณะที่คาดปรับขึ้นต่อเนื่องอีก 2 - 3 ครั้งในปี 62
นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนในนโยบายทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ทั้งการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และแคนาดา ที่ก่อนหน้ามีความคาดหวังในเชิงบวก ต่อข้อตกลง NAFTA ฉบับใหม่ และการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ผ่านมา 2 รอบ ยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งคาดต้องใช้ระยะเวลาในการเจรจาต่อรอง พร้อมกับความกังวลต่อสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รอบใหม่ที่อาจมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น
ดังนั้นประเมินกลยุทธ์การลงทุนในเดือนกันยายน คาดมีความผันผวน ภายใต้ประเด็นเดิมต่างประเทศที่กลับมามีความไม่แน่นอน และมีน้ำหนักกดดันอีกครั้ง โดยเฉพาะการทำสงครามการค้ารอบใหม่ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ล่าสุดสถานการณ์ส่งสัญญาณมีความรุนแรงมากขึ้น หลังสหรัฐฯ มีแผนเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีน อัตรา 25% วงเงินเพิ่มอีก 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (50%ของมูลค่าสินค้าจีนที่สหรัฐฯ นำเข้า) หลังก.ค. - ส.ค. ที่ผ่านมา 2 ประเทศ เรียกเก็บภาษีสินค้าระหว่างกัน อัตรา 25% วงเงิน 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดครั้งที่ 3
อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความไม่แน่นอนจากประเด็นต่างประเทศ ทำให้คาดดัชนีมีความผันผวน และราคาหุ้นมีโอกาสปรับลดลง อย่างไรก็ตามเป็น "โอกาสในการเข้าสะสม" โดยเฉพาะหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศที่ดีขึ้นตามลำดับ ทั้งจากการส่งออก และการท่องเที่ยวที่ยังดีต่อเนื่อง พร้อมกับการลงทุนภาครัฐฯ ที่คาดเร่งตัวขึ้นตั้งแต่ 2H/61เป็นต้นไป รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ส่งสัญญาณที่ดี หลังไตรมาส 2/2561 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 67.5 สูงสุดในรอบ 13 ไตรมาสที่ผ่านมา แนะเก็งกำไรในหุ้นที่น่าสนใจ ได้แก่ CBG, COM7, CK, KCE, MTC, PTT และ TRUE เป็นต้น