กรุงเทพฯ--7 ก.ย.--ซีดีไอพี
เมื่อผู้บริโภคในปัจจุบันอยู่ในวิถีชีวิตที่มีเวลาอย่างจำกัด ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและผลิตภัณฑ์ทางเลือกเพื่อสุขภาพในรูปแบบต่างๆจึงนับเป็นอีกกลุ่มสินค้าที่มีอิทธิพลในตลาดสินค้าและบริการเพื่อสุขภาพที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคเพื่อส่งเสริมการทำงานของสมอง ร่างกาย เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน บำรุงระบบภายใน และการดูแลผิวพรรณ อย่างไรก็ดี กระแสการบริโภคเป็นสิ่งที่มาเร็วไปเร็ว เมื่อผลิตภัณฑ์บางอย่างคุณภาพไม่เพียงพอต่อการสนองความต้องการได้อย่างแท้จริง ก็จะมีผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ที่มาพร้อมกับนวัตกรรมแปลกใหม่ที่ตอบโจทย์ได้มากกว่าเข้ามาแทนที่ การศึกษาเพื่อทำความเข้าใจ ค้นคว้าความเป็นไปได้ที่จะนำไปสู่การพัฒนาจึงเป็นกระบวนการสำคัญที่ผู้ประกอบการในธุรกิจเพื่อสุขภาพต้องตื่นตัว
คุณจุรีวรรณ รองศักดิ์ ผู้จัดการฝ่ายนวัตกรรม บริษัท ซีดีไอพี (ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) ได้กล่าวในรายการ SME Championทางสถานีวิทยุราชมงคลธัญบุรี FM 89.5 MHz ถึงกระบวนการR&D (Research and Development) ว่ากระบวนการดังกล่าวมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนธุรกิจผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพเป็นอย่างมากไม่จำกัดเฉพาะเพียงแค่แบรนด์ใหญ่เท่านั้นที่ต้องใช้ R&D เพราะธุรกิจขนาดย่อมอย่าง SME ก็สามารถทำได้ แต่ผู้ประกอบการหลายท่านมักมีข้อกังวลใจในเรื่องของต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้นจากกระบวนการดังกล่าว โดยอันที่จริงแล้วการใช้งบประมาณสำหรับ R&D นั้นมีตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลักล้าน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของตัวผู้ประกอบการเริ่มตั้งแต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ในระดับตัวอย่างก็จะใช้งบประมาณไม่สูงมากโดยเริ่มต้นที่หลักหมื่น ยกตัวอย่างกรณีการให้บริการจากซีดีไอพีสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจทำผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ลูกค้าจะได้รับสูตรการผลิตสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการคิดค้น พัฒนาสูตร จากซีดีไอพี โดยลูกค้าสามารถนำสูตรดังกล่าวไปผลิตได้ด้วยตนเอง หากลูกค้ายังขาดความพร้อมด้านโรงงาน บุคลากร ที่สามารถดำเนินการได้ในระดับอุตสาหกรรม ก็สามารถว่าจ้างบริษัทในเครือของเราดำเนินการผลิตได้เช่นกัน ซึ่งจะมีงบประมาณที่สูงขึ้นตามขอบเขตของการให้บริการ
อีกกรณีหนึ่งที่มีการใช้งบประมาณสูงขึ้นถึงหลักแสน ก็คือการเพิ่มกระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผลิตผลทางการเกษตร อย่างผัก ผลไม้ ซึ่งมักเกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอาง สมุนไพร กล่าวคือมีขั้นตอนการทำงานที่เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีการวิจัยและพัฒนาสูตรเพียงอย่างเดียว โดยกระบวนการทำงานจะมีการแปรรูปผลิตผลต่าง ๆ ออกมาในรูปของวัตถุดิบแล้วจึงนำมาขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบและจะมีการทดลองผลิตในเชิงอุตสาหกรรม (Pilot Scale) และการทำ R&D ที่ใช้งบประมาณสูงสุดถึงหลักล้าน จะมีการเพิ่มขั้นตอนการทดลองเพื่อดูผลลัพธ์ประสิทธิภาพการใช้งานของผลิตภัณฑ์ด้วยการทดลองทางคลินิก (Clinical trials) ในห้องปฏิบัติการ
สำหรับผู้ประกอบการที่เพิ่งเริ่มต้นกับการทำธุรกิจ อยากเข้าสู่กระบวนการ R&D แต่ไม่มีทุนทรัพย์ เพียงพอ ผู้ให้บริการR&Dอย่างซีดีไอพี เราสามารถแนะนำแหล่งทุนได้ โดยจะมีการเขียนโครงการเพื่อเสนอต่อแหล่งทุนที่พร้อมให้การสนับสนุนทุนทรัพย์แบบให้เปล่า แก่ผู้ประกอบการในการทำวิจัย ยกตัวอย่างเช่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือจะเป็น โครงการ ITAP หน่วยงานภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวพร้อมให้การสนับสนุนผู้ประกอบการในระดับ SME โดยหลักเกณฑ์สำคัญที่ใช้ประกอบการพิจารณาอนุมัติทุน คือผลิตภัณฑ์ ต้องมีส่วนหนึ่งส่วนใดที่สอดคล้องกับนโยบายเพื่อการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ ของภาครัฐ เช่นการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรที่ล้นตลาดซึ่งตอบสนองต่อปัญหาของเกษตรกรได้ เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าการเริ่มต้นสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ดีๆออกวางจำหน่ายนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แม้หลายท่านอาจกังวลในเรื่องของทุนทรัพย์ในการเริ่มต้น เพียงแค่ท่านขอรับคำปรึกษาจากผู้ให้บริการด้าน R&D ซึ่งเป็นที่ไว้วางใจ เชื่อถือได้ มีมาตรฐานการให้บริการอันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นเปิดประตูสู่โอกาสในฐานะผู้ประกอบการยุคใหม่ที่มีผลิตภัณฑ์ชั้นนำซึ่งผ่านกระบวนการวิจัยและการพัฒนาเพื่อคุณภาพสูงสุดที่สามารถครองใจผู้บริโภคได้เช่นกัน