กรุงเทพฯ--7 ก.ย.--สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ
สคช. เผยแผนการประชาสัมพันธ์ปี 2562 เน้นการสื่อสารเชิงคุณภาพ เน้น 3 ยุทธศาสตร์หลัก กระจายเข้าถึงองค์กร บริษัท และชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ ล่าสุดเพิ่มบทบาทองค์กรรับรองตั้ง Mobile Unit จัดการประเมินคุณวุฒิวิชาชีพเจาะตรงตัวบุคคล พร้อมเตรียมจัดโครงการประชาสัมพันธ์สัญจรตามจังหวัดที่มีศูนย์การขนส่งขนาดใหญ่ วาดเป้าปีหน้าเพิ่มบุคคลเข้าประเมินเติบโต 2.5 เท่า
นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ หรือ สคช. เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้และบทบาทการทำงานของ สคช. กระจายไปยังกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจ องค์กร รวมถึงบุคลากรในสาขาอาชีพต่างๆ แผนการดำเนินงานในปี 2562 สคช.จะมุ่งเน้นการทำงานเชิงคุณภาพด้วยการมุ่งเน้นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ในรูปแบบองค์รวมในเชิงลึก โดยจะกระจายการสื่อสารเพื่อเจาะตรงไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ
ทั้งนี้ การทำงานจะมุ่งเน้นดำเนินการภายใต้กลยุทธ์หลัก 3 ด้าน ประกอบด้วย 1.การปรับโหมดประเมินใหม่ ด้วยการเพิ่มบทบาทขององค์กรรับรองให้มีการขยายพื้นที่มากขึ้น ภายใต้โครงการ Mobile Unit หรือองค์กรรับรองเคลื่อนที่ จากเดิมที่การประเมินนั้นจะใช้องค์กรรับรองหรือ CB (Certificate Body) ซึ่งมีหน้าที่ในการจัดสอบ เพื่อทดสองสมรรถนะของบุคคลในอาชีพต่างๆ ที่จะตั้งอยู่ใน Center หรือพื้นที่เฉพาะ ให้เข้าถึงกลุ่มองค์กร บริษัท หรือบุคคลกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาค โดยในการประเมินผ่าน Mobile Unit นี้ จะมีการคัดเลือกบางสาขาวิชาชีพที่ไม่มีวิธีซับซ้อนในการประเมินเท่านั้น อาทิ สาขาโลจิสติกส์ที่ดูแลเรื่องเอกสาร เจ้าหน้าที่การบัญชี โดยที่ สคช. จะเป็นผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง 2.การจัดทำโครงการประชาสัมพันธ์สัญจรไปยังพื้นที่ชุมชนที่มีผู้ประกอบการไปยังภูมิภาคต่างๆ โดยจะมุ่งเน้นจังหวัดที่เป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งก่อน โดยจะเริ่มจากจากภาคอีสาน จังหวัดขอนแก่น ที่ถือเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่ง ซึ่งจาการสำรวจพบว่าจังหวัดดังกล่าวมีระบบการขนส่งจำนวนมาก ต่อจากนั้นจะกระจายโครงการไปยังภาคเหนือ กลาง และภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็น เชียงใหม่ โคราช สุราษฎร์ธานี สงขลา และหาดใหญ่
ในขณะที่พื้นที่ภาคตะวันออกนั้น จะมุ่งเน้นการผลิตกำลังคน เพื่อตอบรับยุทธศาสตร์หลักของชาติในเรื่องของระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งล่าสุดได้มีการประชุมกับพลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ให้ สคช.ทำงานตอบโจทย์ EEC ได้มากขึ้น เนื่องจากในพื้นที่ดังกล่าวมีกลุ่มอุตสาหกรรมหลากหลายสาขาอาชีพที่ครอบคลุมไปใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล ทั้ง 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ First S-curve และ 5 อุตสาหกรรมอนาคต New S-curve โดยเดือนปลายเดือนกันยายนนี้จะมีการสัญจรที่ จ.ตราด จะมีการหารือถึงความร่วมมือและการผลักดันการผลิต รวมถึง การเยี่ยมชมกลุ่มนักศึกษา เพื่อตอบโจทย์การพัฒนามาตรฐานอาชีพและรองรับการเติบโตของ EEC ในอนาคต 3. การมุ่งเน้นการทำงานจากบนลงล่าง ด้วยการจัดทำสื่อเพื่อเจาะตรงเข้าถึงผู้ประกอบการมากขึ้น มากกว่าการใช้สื่อกลาง อาทิ การจัดทำวิดีทัศน์ส่งตรงถึงบริษัทหรือองค์กรต่างๆ โดยที่ผ่านมาการสื่อสารของ สคช. จะเป็นภาพในมุมกว้าง ที่เน้นสื่อสารถึงการบทบาทและหน้าที่ประเมินสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพในแต่ละสาขาวิชาชีพเท่านั้น
นอกจากนี้ สคช.ยังได้ใช้นโยบายเชิงรุกด้วยการตั้งองค์กรรับรองสำหรับการรองรับสาขาวิชาชีพใหม่ๆ โดยในปีนี้ได้เปิดองค์กรรับรองด้านสิ่งแวดล้อมสารอันตราย และจะมีการเปิดสาขาใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยการจัดตั้งองค์กรรับรองนี้ จะสอดคล้องไปกับแผนยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 สำหรับในปี 2562 วางเป้าหมายจะมีผู้ขอรับการประเมินคุณวุฒิวิชาชีพ เติบโตขึ้น 2.5 เท่าตัว หรือจาก 20,000 คน เพิ่มเป็น 49,000 คน