กรุงเทพฯ--7 ก.ย.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจราชการ ณ จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูน ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมมีการพัฒนาปรับปรุงฟาร์ม ระบบการเลี้ยงและการจัดการฟาร์มให้ถูกสุขอนามัย โดยให้ฟาร์มโคนมได้รับรองมาตรฐานฟาร์ม (GAP) ภายในปี 2563 เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตและคุณภาพน้ำนมให้ได้มาตรฐานสากล เพิ่มศักยภาพของเกษตรกรและผู้ประกอบการโคนมของไทยให้มีความเข้มแข็ง รองรับการค้าเสรี และสามารถแข็งขันกับต่างประเทศได้ โดยเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ และพะเยา มีโคนมทั้งสิ้น 72,435 ตัว เป็นโครีดนม จำนวน 30,708 ตัว ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรพัฒนาให้ได้มาตรฐานฟาร์ม (GAP) เพื่อยกระดับการจัดการเลี้ยงโคนมแบบมืออาชีพ สามารถผลิตน้ำนมดิบที่มีคุณภาพ ปลอดโรคและปลอดภัยต่อการบริโภค โดยจัดทำโครงการนมคุณภาพสูงล้านนา สามารถสร้างตราสัญลักษณ์ "นมคุณภาพสูงล้านนา" มีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 243 ราย และมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการจำนวน 4 ราย สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับเกษตรกร 204,000 บาท/ฟาร์ม/ปี อีกทั้งยังได้รับรางวัลดีเด่น (รางวัลเลิศรัฐ) ในสาขาการบริการภาครัฐจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ในปี 2560 นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มหรือสร้างเครือข่ายในการจัดทำแปลงใหญ่โคนม เพื่อผลิตฝูงโคนมทดแทน มีการผลิตแปลงหญ้าหรืออาหารสัตว์แบบผสม (TMR) เพื่อลดต้นทุนการผลิต รวมถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์นมเพื่อสร้างแบรนด์ (Branding) และสร้างมูลค่าเพิ่มของนมและผลิตภัณฑ์นมเพื่อรองรับการค้าเสรี (FTA) ในอนาคต สร้างความมั่นคงในอาชีพ และพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมของประเทศไทยในตลาดโลก
ทั้งนี้ จากการเยี่ยมชมกิจการของบริษัท เชียงใหม่เฟรชมิลค์ พบว่า ผู้ประกอบการ ฟาร์มโคนมมีความสามารถที่จะผลิตน้ำนมที่มีคุณภาพ อีกทั้งยังสามารถนำของเสียภายในฟาร์มมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แก้ปัญหามลพิษ และเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจ ด้วยการลดต้นทุนจากการใช้พลังงานทดแทน โดยโค 2,000 ตัว สามารถนำไปใช้ประโยชน์ ผลิตเป็นก๊าซชีวภาพได้ 1,700 ลบ.ม/วัน ผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ 2,550 กิโลวัตต์ชั่วโมง/วัน รวมทั้งนำไปทำก๊าซไบโอมีเทนอัด แทนก๊าซ NGV ได้ 200 กิโลกรัม/วัน นอกจากนี้ กากมูลโคยังสามารถนำมาใช้เป็นปุ๋ยสำหรับแปลงพืชอาหารสัตว์และพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ได้อีก ซึ่งเป็นผลการวิจัยร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ และคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฟาร์มโคนมของบริษัทเชียงใหม่เฟรชมิลค์ ยังเป็นฟาร์มที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการดำเนินการตั้งแต่การเลี้ยง การรีดนม การควบคุมคุณภาพการผลิต ตลอดจนการตรวจสอบย้อนกลับ
จากนั้นได้เยี่ยมชมการดำเนินงานของสหกรณ์โคนมเชียงใหม่ จำกัด อ.สารภี จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งสหกรณ์ดังกล่าว มีโรงงานแปรรูปนมพาสเจอไรซ์ มีกำลังการผลิต 12 ตันต่อวัน และโรงงานแปรรูปนมยูเอชที มีกำลังการผลิต 5 ตันต่อวัน ปัจจุบันสหกรณ์มีสมาชิกผู้เลี้ยงโคนม จำนวน 144 ราย จำนวนฟาร์มที่ได้รับรองมาตรฐานฟาร์มโคนม (GAP) จำนวน 98 ฟาร์ม คิดเป็นร้อยละ 68 โคนมทั้งหมด 4,652 ตัว มีแม่โครีดนม 2,386 ตัว ปริมาณน้ำนมดิบเฉลี่ย 29.68 ตันต่อวัน (เดือนสิงหาคม 2561) มีรายได้ต่อปี 515 ล้านบาท ซึ่งจากการดำเนินการผลิตนมและผลิตภัณฑ์นม ได้แก่ นมพาสเจอไรซ์ นมยูเอชที มีการผลิตทั้งนมพาณิชย์และนมโรงเรียน ที่ได้รับโควตา 17.46 ตันต่อวัน มีการจำหน่ายไปยังจังหวัดต่าง ๆ เช่น เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง น่าน แม่ฮ่องสอน พะเยา และตาก นอกจากนี้ ยังจำหน่ายนมและผลิตภัณฑ์นมภายใต้ ตราสินค้า "สหกรณ์โคนมเชียงใหม่" และตราสินค้า "น้ม นม" รวมถึงเปิดร้านจำหน่ายนม กาแฟ นมเปรี้ยว และไอศกรีมที่สหกรณ์ เพื่อเป็นต้นแบบในการเพิ่มมูลค่าให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับสหกรณ์โคนมเชียงใหม่ด้วย