กรุงเทพฯ--7 ก.ย.--ซีพีเอฟ
บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ พร้อมสนับสนุนรัฐบาลเดินหน้าโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา มุ่งส่งเสริมศักยภาพนักเรียนด้านทักษะการงานอาชีพและประสบการณ์เพื่อสร้างโอกาสการทำงานให้นักเรียนหลังจบการศึกษา รองรับความต้องการของท้องถิ่น
ในโอกาสที่ ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายมีชัย วีระไวทยะ คณะกรรมการพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการสถานศึกษาในรูปแบบโรงเรียนร่วมพัฒนา หรือ Partnership School เยี่ยมชมและให้กำลังใจคณะผู้บริหารและนักเรียน "โรงเรียนธงชัยเหนือวิทยา(โคกศิลา)" และ "โรงเรียนชุมชนบ้านวัด" ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบและได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ในโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา มุ่งสร้างครูและนักเรียนเป็นทั้งคนดีและคนเก่ง ส่งเสริมสถานศึกษาเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน
นายทวีสิน คุณากรพิทักษ์กุล รองกรรมการผู้จัดการ ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทมุ่งมั่นมีส่วนร่วมขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของไทย โดยให้การสนับสนุนโรงเรียนในจังหวัดนครราชสีมา ตามแนวทางการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทย ซึ่งโรงเรียนร่วมพัฒนาเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการจัดการศึกษาที่เพิ่มบทบาทให้ภาคเอกชน ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาในพื้นที่ เข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาระบบบริหารการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาให้แก่ผู้เรียนอย่างทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีความรู้ความสามารถ เพื่อที่จะพัฒนาเด็กนักเรียนให้เป็นคนดีและคนเก่ง พร้อมกันนี้ ส่งเสริมสถานศึกษาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของคนในชุมชน
ทั้งนี้ ซีพีเอฟ ได้ระดมสมองเพื่อทำแผน 5 ปี (2561-2566) เพื่อสนับสนุนโครงการฯทั้งด้านวิชาการและทักษะให้ตรงความต้องการและความถนัดของแต่ละคนเพื่อสร้างความเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะการฝึกฝนจากการทดลองปฏิบัติจริงในโรงเรียนและการฝึกงานในโรงงาน เพื่อขับเคลื่อนโรงเรียนให้เป็นไปตามเป้าประสงค์
"ทั้ง 2 โรงเรียนมีศักยภาพในการพัฒนาให้เป็นโรงเรียนต้นแบบและศูนย์การเรียนรู้ของชุมชนและจังหวัด ซึ่งบริษัทเชื่อว่าการร่วมแรงร่วมใจกันระหว่างภาครัฐ เอกชน โรงเรียน ชุมชน และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะช่วยสนับสนุนให้โรงเรียนเดินหน้าสู่เป้าหมาย ช่วยยกระดับการศึกษา ทักษะและความชำนาญ ของเด็กให้แข่งขันกับนานาประเทศได้เป็นอย่างดี และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืน" นายทวีสิน กล่าว
นายเมธี คอบตะขบ ผู้อำนวยการโรงเรียนธงชัยเหนือวิทยา(โคกศิลา) กล่าวว่า คณะกรรมการของโรงเรียนร่วมพัฒนา จะร่วมกันกำหนดแผนพัฒนาโรงเรียนร่วมพัฒนา เป็นแผนระยะ 5 ปี มีเป้าหมายให้นักเรียนทุกคนต้องอ่านออกเขียนได้ สามารถใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวันได้ คุณครูนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มทักษะในการผลิตสื่อการเรียนการสอน นอกจากนี้ โรงเรียนต้องเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน และช่วยพัฒนาทักษะอาชีพให้นักเรียนมีอาชีพติดตัวหลังจากที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งโรงเรียนเปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ ชั้นอนุบาล1 – มัธยมศึกษาปีที่ 3 มีจำนวนนักเรียน 240 คน
"โรงเรียนทำโครงการ 1 ห้องเรียน 1 ผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งแต่ละปีเด็กจะเรียนรู้ทักษะอาชีพ 2 ชิ้นงาน อาทิ ระดับอนุบาล เรียนรู้วิธีการทำจ่อมเห็ด เพ้นท์สี ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ทำแซนวิชเห็ด ขยายพันธุ์กล้าไม้ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ผลิตไม้ประดับแบบแขวน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ทำกระถางต้นไม้จากเศษผ้าขนหนู เป็นต้น นอกจากนี้ โรงเรียนจัดกิจกรรมโครงการศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง การเพาะเห็ดนางฟ้าพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นโครงการที่สร้างกระบวนการเรียนรู้แบบครบวงจร เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการทำก้อนเชื้อเห็ด การเพาะเห็ดในโรงเรือน จำหน่ายผลผลิตเห็ดสด จนถึงการแปรรูปเห็ด ซึ่งสามารถถ่ายทอดความรู้ให้แก่ชุมชนได้ด้วย" ผู้อำนวยการโรงเรียนธงชัยเหนือวิทยา กล่าว
ด้านนายธนยศ ปะเสทะกัง ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านวัด กล่าวว่า โรงเรียนชุมชนบ้านวัดเป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา เน้นพัฒนานักเรียนทั้งในด้านคุณธรรม จริยธรรม ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง และฝึกทักษะอาชีพให้นักเรียนรู้จักพึ่งพาตัวเองตามสภาพพื้นที่ของโรงเรียนและสภาพพื้นที่ของชุมชนโดยรอบ เช่น กิจกรรมค่ายพัฒนาภาษาอังกฤษ กิจกรรมเลี้ยงปลาดุกในบ่อดินและกระชังบก กิจกรรมปลูกถั่วดาวอินคาเพื่อพัฒนาการเรียนรู้และทักษะอาชีพ ปลูกกล้วยน้ำว้า ปลูกฟักข้าว การเลี้ยงจิ้งหรีด เป็นต้น โรงเรียนคาดหวังว่าการเข้าร่วมโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา จะให้ความสำคัญไปที่การพัฒนานักเรียนทั้งด้านวิชาการ ทักษะอาชีพ มีภาวะผู้นำ เป็นทั้งคนเก่งและคนดี
ปัจจุบัน โรงเรียนชุมชนบ้านวัด อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา มีจำนวนนักเรียน 230 คน เปิดสอนระดับชั้นอนุบาล 2 ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนอยู่ในเขตพื้นที่เฝ้าระวังการกระจายของยาเสพติด จึงเน้นทำกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านยาเสพติดกับนักเรียนและชุมชน รวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างโรงเรียน ผู้ปกครอง และชุมชนในพื้นที่ ให้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการศึกษาและทักษะอาชีพ.