กรุงเทพฯ--26 ธ.ค.--สช.
นายแพทย์ประเวศ วะสี เชื่อมั่นระบบสุขภาพไทยมาไกลที่สุด แนะใช้กลไกสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาจัดการปัญหาทั้งระบบ สร้างความฝันร่วมลดขัดแย้ง หนุนท้องถิ่นเข้มแข็ง ทางออกสุขภาวะสังคมไทยไม่ว่าการเมืองจะเป็นเช่นไร
ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวในที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ว่า ขณะที่ทั่วโลกกำลังสนใจการปฏิรูประบบบริการสุขภาพ (heath care reform) แต่ประเทศไทยไปไกลกว่า โดยมุ่งสู่ระบบสุขภาพ (health system) แล้ว โดยไปไกลกว่าเรื่องการแพทย์การสาธารณสุข แต่สนใจสุขภาพในนิยามใหม่ คือ สุขภาวะที่สมบูรณ์ ทางกาย จิต สังคม และ จิตวิญญาณ หรือ ปัญญา
“ถ้านิยามอย่างนี้แล้วสุขภาพก็เข้าไปมีความเกี่ยวข้องกับการพัฒนามนุษย์และสังคมทั้งหมด ไม่ใช่แค่เรื่องหมอ ยา ในโรงพยาบาลเท่านั้น ตรงนี้เปิดกว้างขึ้น เพราะสุขภาพเป็นเรื่องของทุกคน เพื่อตัวเอง ครอบครัว สังคม ชุมชน เศรษฐกิจ การศึกษา วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ความยุติธรรม เราต้องมองให้ครอบคลุม”
สำหรับกลไกการทำงานขับเคลื่อนระบบสุขภาพไทยให้สำเร็จ นายแพทย์ประเวศระบุว่าการแก้ปัญหาใหญ่ในสังคมที่ซ้ำซ้อน และโครงสร้างผลประโยชน์ที่ซ้ำซ้อน เป็นเรื่องยาก จำเป็นต้องใช้กลไกที่เรียกว่า สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา หมายถึงเขยื้อนในสิ่งที่ยาก การใช้สามเหลี่ยม คือ การใช้ 3 องค์ประกอบเข้ามาบรรจบกัน ได้แก่ 1.ความรู้ ต้องรู้จริงเรื่องนั้น ต้องค้นคว้าวิจัย ชัดเจน ในเรื่องนั้นๆ 2.คือการเคลื่อนทางสังคม (social mobilization) อันนี้หมายถึงสังคมเข้ามาร่วมเรียนรู้ เข้ามาสนใจ เข้ามาร่วมกัน 3.อำนาจรัฐ หรือการเมือง ต้องใช้ทั้ง 3 องค์ประกอบมาบรรจบกัน หากมีเพียงมุมใดมุมนึงมุมเดียวก็ไม่สำเร็จ หรือ 2 มุมก็ไม่สำเร็จ นักวิชาการมีความรู้มากขนาดไหน ก็เรียกว่าความรู้ขึ้นหิ้ง ก็ไม่รู้จะทำยังไงต่อ สังคมจะเคลื่อนโดยไม่มีความรู้ เคลื่อนก็ไม่มีพลัง เคลื่อนแล้วเพี้ยน เพราะขาดความรู้ทั้ง 3 การเมืองก็แน่นอน ถ้าปราศจากความรู้และกระบวนการทางสังคมก็ไม่สำเร็จ
“ ใน พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ จึงได้ออกแบบมาจะใช้สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา โดยใช้ความรู้ สังคม การเมือง หรือ อำนาจรัฐเข้ามาบรรจบกัน ดังจะเห็นว่าคณะกรรมการของเรานั้น ก็มีทั้งนักวิชาการ ทางสังคม ทางการเมืองเข้ามาร่วม เพื่อประกอบเป็นสามเหลี่ยม แล้วมีสำนักงานคณะกรรมการซึ่งเป็นองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ ที่ทำงานเป็นนักวิชาการ สามารถทำงานได้คล่องแคล่ว สังคมต้องมีส่วนร่วม แล้วเชื่อมโยงกับการเมือง การเมืองต้องไม่แยกส่วน ไม่ว่าการเมืองจะเป็นอย่างไรก็ตาม บางคนมัวแต่ไปรอ ว่าถ้านักการเมืองบริสุทธ์แล้วบ้านเมืองจะดีขึ้น ซึ่งมันก็ไม่จริง” นายแพทย์ประเวศกล่าว
อย่างไรก็ตาม ราษฎรอาวุโสยังระบุว่า การพัฒนาจะสำเร็จได้ต้องมีความฝันที่ใหญ่ร่วมกัน แม้จะมีความแตกต่างกันในเชิงความรู้ อุดมการณ์ ความคิดเห็น ที่อาจร่วมกันไม่ได้แต่ความฝันสามารถร่วมกันได้ เพราะคนไทยทุกคนย่อมมีความฝันลึกๆ ทุกคนอยากเห็นประเทศไทยดีขึ้น
“ถ้าเราร่วมกัน เป้าหมายที่ตั้งไว้ 5 ปี 10 ปี เราจะสร้างสวรรค์บนดินได้แน่นอน ทั้งด้านสังคม ความพอเพียง ความสันติสุข คิดว่าตรงนี้น่าจะสร้างเป้าหมาย ให้คนมาร่วมสร้างวิสัยทัศน์ ว่าจะเอาเรื่องสุขภาพ สุขภาวะเป็นตัวตั้ง ซึ่งขณะนี้เราไม่ได้เอาตัวนี้เป็นตัวตั้ง เราเอากำไรสูงสุดตั้งบ้านเมืองเลยแย่ ไม่มีพลังเลย เพราะเราเอากำไรสูงสุดตั้ง พอกำไรสูงสุดเราก็ขัดแย้งกัน กำไรของคุณกับกำไรของฉันมันคนละอัน ถ้าเรามองสุขภาวะอันเดียวเลยเป็นปัจเจกบุคคล healthy individual สุขภาวะครอบครัว เป็นชุมชนสุขภาวะ เป็นเมืองสุขภาวะ ตำบลที่มีสุขภาวะ เมืองต่างๆที่เป็นสุขภาวะ ทั้งทางกาย จิต สังคม ทางปัญญา เป็นสุขภาวะหมดเลย ทั้งเนื้อทั้งตัวประเทศไทยกลายเป็นอุดมการณ์ของชาติ ไม่ใช่เป็นกำไรสูงสุด ตรงนี้เป็นการเปลี่ยนโลกทัศน์”
ทั้งนี้นายแพทย์ประเวศยังแสดงความคิดเห็นต่อทิศทางการทำงานของ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ว่า ต้องไม่ทำงานซ้ำซ้อนกับกระทรวงอื่น และทำงานโดยยึดการสร้างฐานรากอันเข้มแข็ง มิใช่การสร้างพระเจดีย์จากยอดลงมาเพราะจะไม่มีวันสำเร็จ ทั้งนี้ชุมชนของท้องถิ่น คือ การรวมฐานของสังคม ต้องช่วยกันส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นทุกแห่ง
“จากประสบการณ์ มีความมั่นใจมาก มันเป็นสันติวิธี ไม่ได้ทำลายใคร ต่อต้านใคร ว่าการดึงทุกส่วนเข้ามาช่วยกันนั้น การทำให้ชุมชนเข้มแข็งนั้น มันจะเข็มแข็งทุกทาง ทั้งทางเศรษฐกิจ ทางจิตใจ ทางสิ่งแวดล้อม ทางวัฒนธรรม ทางสุขภาพ แล้วมันเป็นการเมืองเป็นประชาธิปไตย เราก็จะรู้และว่า ถ้าชุมชนไหนมีความเข็มแข็ง หายจน แล้วมีการรวมตัวกัน หัวคะแนนก็จะทำงานไม่ได้ เพราะพลังอำนาจน้อยกว่าอำนาจของชุมชนที่เข้มแข็ง มันก็จะเป็นประชาธิปไตยชุมชนท้องถิ่นไปด้วยในตัว จะช่วยรองรับประชาธิปไตยข้างบนให้แข็งแรงไปในตัวด้วย ดังนั้นถ้าเราทำตรงนี้ ภายใน 5 ปี เราจะสร้างชุมชนแห่งความพอเพียงและสันติสุขขึ้นได้ และเราใช้เวลาอีก 5 ปีทำให้มันเข้มแข็งขึ้นเชื่อมโยงข้างบนกับข้างล่าง ให้มันเกื้อกูลกัน ผมมีความเชื่อว่าเราสร้างสวรรค์บนดินได้ อย่าไปท้อถอยว่าการเมืองมันเป็นอย่างไร” นายแพทย์ประเวศกล่าว