กรุงเทพฯ--10 ก.ย.--ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น
บมจ.ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER) ส่งสัญญาณผลงานครึ่งหลังของปี61 โตแรง รับอานิสงส์ช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจ จ่อ COD โรงไฟฟ้าสหกรณ์การเกษตรเฟส 2 พร้อมรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าขยะจ.สระแก้วที่ COD เรียบร้อยแล้ว ฟากบอส " จอมทรัพย์ โลจายะ" เผยปีนี้จะเริ่มบุ๊ครายได้จากโรงไฟฟ้าขยะเป็นปีแรกสัดส่วน 4-5% หนุนรายได้ทั้งปี ขณะที่ บอร์ดไฟเขียวโอนโรงไฟฟ้า19 แห่ง กำลังผลิต 118 MW เข้ากองอินฟราฟันด์ พร้อมยื่นไฟลิ่งจัดตั้งเดือนกันยายนนี้
นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานคณะกรรมการ บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SUPER เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานครึ่งหลังของปี 2561 คาดว่า จะเติบโตแข็งแกร่ง เนื่องจากเข้าสู่ช่วง High Season ของธุรกิจ อีกทั้งยังมีการขายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD)เพิ่ม จากโครงการโรงไฟฟ้าโดยใช้เชื้อเพลิงทดแทน จากสิ่งปฏิกูลที่ไม่เป็นของเสียอันตราย ของบริษัท กรีน เพาเวอร์ เอนเนอร์จี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูก SUPER มีกำลังการผลิตเสนอขายรวม 9.9 เมกะวัตต์ ที่เริ่มขายไฟแล้วตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าสหกรณ์การเกษตร เฟส 2 ขนาดกำลังการผลิต 28เมกะวัตต์ ในช่วงไตรมาส 4/2561 ผลักดันให้รายได้ และกำไรในปีนี้เติบโตตามกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น
" เรายังเชื่อมั่นว่าในปีนี้จะเป็นปีที่ดีของ SUPER และสามารถสร้างรายได้เติบโตก้าวกระโดด จากกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นช่วงปลายปีนี้ และจะรับรู้รายเต็มปีในปีหน้า ซึ่งจะผลักดันให้กระแสเงินสดมีความแข็งแกร่ง พร้อมที่จะขยายการลงทุนโครงการใหญ่ต่างๆ ตามแผนงานที่วางไว้ และอยากให้มองว่าปีนี้จะเป็นปีแรกที่เรา จะมีส่วนแบ่งรายได้จากโรงไฟฟ้าขยะประมาณสัดส่วน 4- 5% นอกจากโซลาร์เซลล์อย่างเดียว และจะพยายามเพิ่มสัดส่วนมากขึ้น เพราะสร้างมาร์จินระดับสูง ปัจจุบัน SUPER อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ จ.พิจิตร กำลังการผลิต 9 เมกะวัตต์ ซึ่งจะสนับสนุนการเติบโตอย่างมีนัยยะในอนาคต " นายจอมทรัพย์ กล่าว
นอกจากนี้ยังเตรียมความพร้อมการซื้อขายไฟฟ้าในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบ (SPP Hybrid Firm ) อีกจำนวน 30 เมกะวัตต์ รวมถึงแผนการขายไฟไฟฟ้าโดยตรงให้กับลูกค้าในลักษณะ Private PPA ก็น่าจะเริ่มดำเนินการภายในปีนี้เช่นกัน ซึ่งตามแผนงานที่วางไว้ บริษัทจะทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและคาดว่าจะเซ็นสัญญาได้ในไตรมาส 3 หรือต้นไตรมาส 4 ของปีนี้
ส่วนความคืบหน้าของการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (อินฟราสตรัคเจอร์ฟันด์)คาดว่า จะยื่นไฟลิ่งในการจัดตั้งกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)ได้ในเดือนกันยายนนี้ ล่าสุดคณะกรรมการได้อนุมัติให้บริษัท 17 อัญญวีร์ โฮลดิ้ง จำกัด ("17AYH") และ บริษัท เฮลท์ แพลนเน็ท เมเนจเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด ("HPM") ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ SUPER ทำรายการจำหน่ายสินทรัพย์ในโครงการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 19 โครงการ ขนาดกำลังการผลิต 118 เมกะวัตต์ ให้กับกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน หรือ อินฟราฟันด์
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาขนาดธุรกรรมการโอนสิทธิรายได้สุทธิ โดยวิธีเปรียบเทียบมูลค่ารวมของสิ่งตอบแทน ธุรกรรมการโอนสิทธิรายได้สุทธิ มีขนาดรายการไม่เกิน 9,000 ล้านบาท รวมทั้งคณะกรรมการได้อนุมัติให้บริษัทฯทำธุรกรรมซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนดังกล่าวได้ในสัดส่วน 33%