กรุงเทพฯ--10 ก.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะวิธีปฏิบัติกรณีเข้าช่วยเหลือคนตกน้ำ อย่างถูกวิธี โดยกรณีว่ายน้ำไม่เป็นควรตะโกนให้ผู้ที่ว่ายน้ำเป็นเข้าช่วยเหลือ โยนอุปกรณ์ชูชีพหรือสิ่งของที่ลอยน้ำได้ให้ผู้ตกน้ำ ยึดเกาะ ในกรณีที่ผู้เข้าช่วยเหลือและคนตกน้ำอยู่ในระยะที่ไม่ห่างมากนัก ให้ยื่นอุปกรณ์ใกล้ตัวให้ผู้ตกน้ำจับ โดยที่ผู้เข้าช่วยเหลือ ควรใช้มืออีกข้างยึดฝั่งให้มั่นคง พายเรือหรือใช้ยานพาหนะที่มีขนาดใหญ่และลอยน้ำได้ในการเข้าช่วยเหลือ หากจำเป็นต้องลงน้ำไปช่วยเหลือ ผู้เข้าช่วยเหลือต้องมีร่างกายแข็งแรง มีทักษะในการว่ายน้ำและช่วยเหลือคนตกน้ำ เมื่อเห็นว่าปลอดภัย ค่อยลงน้ำไปช่วยเหลือ โดยเข้าประชิดทางด้านหลัง เพื่อป้องกันคนจมน้ำกอดรัด ทำให้จมน้ำเสียชีวิตได้
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า การช่วยเหลือคนจมน้ำ อย่างถูกวิธี จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของผู้ประสบเหตุและการได้รับอันตรายของผู้เข้าช่วยเหลือ เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะประชาชนเรียนรู้วิธีปฏิบัติตนกรณีเข้าช่วยเหลือคนตกน้ำ ดังนี้ กรณีว่ายน้ำไม่เป็นควรตะโกน ให้ผู้ที่ว่ายน้ำเป็นเข้าช่วยเหลือคนตกน้ำ หรือตะโกนบอกให้ผู้ประสบเหตุตั้งสติ และไม่ตื่นตกใจ พร้อมใช้มือพลุ้ยน้ำและขาตีน้ำ เพื่อพยุงตัวลอยน้ำรอการช่วยเหลือ โยนอุปกรณ์ชูชีพหรือสิ่งของที่ลอยน้ำได้ อาทิ ห่วงยาง ถังพลาสติก ห่วงชูชีพ ยางในรถยนต์ ให้ผู้ตกน้ำยึดเกาะ เพื่อพยุงตัวลอยน้ำรอการช่วยเหลือ พร้อมใช้เชือกผูกสิ่งของ ที่ลอยน้ำได้ โดยให้ผู้ตกน้ำยึดเกาะและดึงตัวกลับเข้าฝั่ง ยื่นอุปกรณ์ใกล้ตัว อาทิ เสื้อผ้า เข็มขัด กิ่งไม้ ผ้าพันคอ ให้คนตกน้ำยึดจับและลอยตัวเข้าหาฝั่ง เหมาะสำหรับใช้ในกรณีที่ผู้เข้าช่วยเหลือและคนตกน้ำอยู่ในระยะที่ไม่ห่างมากนัก โดยผู้เข้าช่วยเหลือ ควรใช้มืออีกข้างยึดกับฝั่งให้มั่นคง เพื่อป้องกันการพลัดตกน้ำ พายเรือหรือใช้พาหนะที่มีขนาดใหญ่และลอยน้ำได้ อาทิ เรือพาย กระดานโต้คลื่น เรือใบ เจ็ทสกี พร้อมนำอุปกรณ์หรือสิ่งของที่ลอยน้ำได้ติดตัวไปด้วย เมื่อเข้าใกล้คนตกน้ำให้ยื่น หรือโยนอุปกรณ์ดังกล่าวให้ผู้ประสบเหตุยึดเกาะ และปีนขึ้นเรือ แต่ต้องระวังไม่ให้เรือล่ม เหมาะสำหรับกรณีคนตกน้ำอยู่ในระยะไกล กรณีลงน้ำไปช่วยเหลือ ผู้ที่เข้าช่วยเหลือคนจมน้ำ ควรมีทักษะในการว่ายน้ำและช่วยเหลือคนตกน้ำ พร้อมยึดความปลอดภัยเป็นหลัก โดยประเมินจากระดับน้ำ ความแรงของกระแสน้ำ และความสูงของคลื่น เมื่อเห็นว่าปลอดภัยค่อยลงน้ำไปช่วยเหลือ โดยเข้าประชิดด้านหลัง เพื่อป้องกันคนจมน้ำกอดรัดและเกาะหลัง ทำให้จมน้ำเสียชีวิตได้ พร้อมนำอุปกรณ์ช่วยเหลือติดตัวไปด้วย อาทิ เชือก ห่วงยาง โฟม เสื้อชูชีพ เพื่อให้คนตกน้ำยึดเกาะ จากนั้นให้ลากผู้ประสบเหตุกลับเข้าฝั่ง