กรุงเทพฯ--10 ก.ย.--มรภ.สงขลา
มรภ.สงขลา รุกจัดการศึกษาก้าวทันความเปลี่ยนแปลง เปิดเวทีสัมมนามนุษยศาสตร์ฯ ในศตวรรษที่ 21 ปี 3 ดึงนักวิชาการแลกเปลี่ยนการเรียนการสอน ชูแนวคิดผลิตบัณฑิตมีความรู้คู่คุณธรรม ร่วมพัฒนาท้องถิ่น
ผศ.นาถนเรศ อาคาสุวรรณ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดสัมมนา"มนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ในศตวรรษที่ 21 ปี 3 : พลเมือง 2018 Active Learning กับการบูรณาการ" ณ ห้องประชุมคณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา เมื่อเร็วๆ นี้ว่า เป้าหมายเพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการซึ่งเป็นบุคลากรภาครัฐ จำนวน 100 คน ได้รับประสบการณ์การทำงานจากการร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ทั้งจากอาจารย์ภายในและภายนอกคณะฯ รวมทั้งมีแนวทางในการทำงานที่เหมาะสมสอดคล้องกับพลเมืองยุค 2018 ทำให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และสามารถนำประสบการณ์มาพัฒนาการเรียนการสอนแบบ Active Learning และพัฒนางานให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น โดยได้รับเกียรติจากวิทยากร น.ส.อภิษฎา ทองสะอาด อาจารย์หลักสูตรศึกษาศาสตร์ ประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาวิชาชีพครู สถาบันอาศรมศิลป์ ดร.รจนีย์ เอ้งฉ้วน นักวิชาการอิสระ ดร.วรลักษณ์ ชูกำเนิด อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมเวทีสัมมนา
ผศ.นาถนเรศ กล่าวว่า คณะมนุษยศาสตร์ฯ ดำเนินงานตามพันธกิจ 5 ด้าน คือ การจัดการศึกษา การวิจัย การให้บริการทางวิชาการแก่สังคม การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และการบริหารจัดการ ภายใต้วิสัยทัศน์ "คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ คู่คุณธรรม สู่การพัฒนาตนและร่วมพัฒนาท้องถิ่น" จากวิสัยทัศน์ข้างต้นจะเห็นได้ว่า คณะฯ มุ่งเน้นผลิตบัณฑิตเป็นประเด็นสำคัญ ดังนั้น การจะผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ จำเป็นต้องจัดการศึกษาที่เน้นกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้ลงมือทำ และได้ใช้กระบวนการคิดเกี่ยวกับสิ่งที่ทำ เป็นการจัดกิจกรรมเรียนรู้ภายใต้สมมติฐาน 2 ประการ คือ 1. การเรียนรู้เป็นความพยายามโดยธรรมชาติของมนุษย์ และ 2. แต่ละคนมีแนวทางในการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน ซึ่งรวมเรียกว่า Active Learning รวมทั้งการจัดการศึกษาที่ก้าวทันต่อความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน
คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.สงขลา กล่าวอีกว่า แนวคิดทักษะแห่งอนาคตใหม่ : การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และในยุค 2018 เป็นความท้าทายของสถาบันการศึกษาในการเตรียมนักศึกษาให้พร้อมรับกับกระแสการปรับเปลี่ยนทางสังคมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วต่อเนื่อง และส่งผลต่อวิถีชีวิตของคนในสังคมอย่างทั่วถึง บุคลากรของคณะฯ จึงต้องมีความตื่นตัวและเตรียมพร้อมในการจัดการเรียนรู้ให้นักศึกษามีความรู้ความสามารถและทักษะที่จำเป็น ตลอดจนเตรียมความพร้อมด้านระบบสนับสนุนการเรียนรู้ เช่น มาตรฐานและการประเมินหลักสูตรและการเรียนการสอน การพัฒนาผู้สอน สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาศักยภาพบุคลากร ทั้งสายวิชาการและสายสนับสนุนให้มีคุณภาพและก้าวทันต่อแนวคิดทักษะอนาคตที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพื่อจะได้ร่วมกันขับเคลื่อนคณะฯ ไปสู่เป้าหมายที่วางไว้