กรุงเทพฯ--10 ก.ย.--ปตท.
ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์ผันผวน โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 0.44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 77.38 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 0.75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 75.80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 0.86 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 68.53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ด้านราคาน้ำมันสำเร็จรูปราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 1.21 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 88.16 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 1.39 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 93.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- อุปทานน้ำมันในตลาดโลกตึงตัวเพราะปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของอิหร่าน เดือน ส.ค. 61 ลดลงจากเดือนก่อน 150,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 3.55 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังผู้นำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน อาทิ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เริ่มหยุดนำเข้าเพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี จีนประเทศผู้นำเข้าน้ำมันดิบของอิหร่าน อันดับหนึ่งและอินเดียผู้นำเข้าน้ำมันดิบอันดับสอง ยังนำเข้าโดยใช้เรือและการประกันภัยของ National Iranian Tanker Co. (NITC) ของอิหร่าน
- Bureau of Safety and Environmental Enforcement (BSEE) ของสหรัฐฯ รายงานในวันที่ 6 ก.ย. 61 ผู้ผลิตน้ำมันดิบนอกชายฝั่งอ่าวเม็กซิโกที่หยุดดำเนินการ จากพายุ Gordon พัดผ่าน กลับมาผลิตอยู่ที่ 1.57 ล้านบาร์เรล ต่อวัน (หยุดผลิต 5.62 % ลดลงจากรายงานวันที่ 5 ก.ย. 61 ซึ่งหยุดผลิต 9.36 %)
- Baker Hughes บริษัทลูกของ General Electric Co. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมัน (Oil Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 7 ก.ย. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2 แท่น มาอยู่ที่ 860 แท่น
- Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 31 ส.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 4.3 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 401.5 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 3 ปีครึ่ง
- Census Bureau ของสหรัฐฯ รายงานปริมาณส่งออกน้ำมันดิบในเดือน ก.ค. 61 อยู่ที่ 2.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากเดือน มิ.ย. 61 ที่ส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยปริมาณส่งออกไปจีนลดลงจากเดือนก่อน ถึง 130,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 380,000 บาร์เรลต่อวัน เพราะโรงกลั่นจีนลดความเสี่ยงด้านภาษีที่รัฐบาลจีนอาจเรียกเก็บจากการนำเข้าน้ำมันดิบสหรัฐฯ
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- การทำสงครามการค้าระลอกใหม่ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Donald Trump เตรียมตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มเติมอีกเป็นมูลค่ากว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หลังสิ้นสุดการทำประชาพิจารณ์ในวันที่ 6 ก.ย. 61 และพร้อมขู่จะถอนตัวจากองค์การการค้าโลก (WTO) และจะมีมาตรการตอบโต้ WTO ส่งผลให้นักลงทุนกังวลว่าสงครามการค้าจะส่งผลลบต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก
- กระทรวงน้ำมันของอิรัก รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากท่าส่งออกทางตอนใต้ เดือน ส.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 40,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 3.58 ล้านบาร์เรลต่อวัน
แนวโน้มราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันดิบปิดตลาดเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผันผวน ราคา ICE Brent เพิ่มขึ้นจากสถานการณ์การเมืองในภูมิภาคตะวันออกกลางทวีความร้อนแรง อาทิ การประท้วงในอิรักและสงครามกลางเมืองในซีเรียยังไม่สงบ โดยความพยายามเจรจาหยุดยิงระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายต่อต้านล้มเหลว อย่างไรก็ตาม ราคา NYMEX WTI ลดลงเล็กน้อยตามตลาดหลักทรัพย์และสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลก ที่ลดลงเนื่องจากนักลงทุนกังวลต่อสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน อาจบานปลาย อีกทั้งเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่า โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าธนาคารสหรัฐฯ อาจปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม หลังตลาดแรงงานสหรัฐฯ ส่งสัญญาณแข็งแกร่ง ให้จับตาความขัดแย้งในกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน โดย Reuters รายงานคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคระหว่างกลุ่ม OPEC กับประเทศผู้ผลิตน้ำมันนอกกลุ่ม (Joint Technical Committee: JTC) เลื่อนกำหนดประชุมเพื่อพิจารณาหารือวิธีการแบ่งโควตาการผลิตน้ำมัน จากเดิมวันที่ 11 ก.ย. 61 ไปเป็นวันที่ 17 ก.ย. 61 โดยมีข้อเสนอจาก 4 ประเทศ ได้แก่ อิหร่าน แอลจีเรีย รัสเซีย และเวเนซุเอลา บ่งชี้แต่ละประเทศใน JTC มีความเห็นแตกต่างกัน และคาดว่าจะบรรลุข้อตกลงได้ยาก อาทิ หนึ่งในแนวทางเสนอให้ แบ่งโควตาการผลิตน้ำมันในสัดส่วนเท่ากัน (pro-rata) ซึ่งคาดว่าซาอุดิอาระเบีย และรัสเซีย จะไม่เห็นชอบด้วย เพราะจะทำให้เพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันได้น้อยกว่าที่ต้องการ (เพิ่มขึ้น 300,000 บาร์เรลต่อวัน และ 400,000 บาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ) ทั้งนี้ JTC จะสรุปผลการประชุมดังกล่าว นำเสนอต่อคณะกรรมการร่วมเฝ้าติดตามในระดับรัฐมนตรี (Joint OPEC-Non-OPEC Ministerial Monitoring Committee หรือ JMMC) ในวันที่ 23 ก.ย. 61 ที่แอลจีเรีย ต่อไป ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 74.0-79.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 66.0-71.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 72.5-77.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นจาก บริษัท JXTG Nippon Oil & Energy Corp. ของญี่ปุ่นปิดดำเนินการหน่วย Fluid Catalytic Cracking (FCC: กำลังการผลิต 46,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่โรงกลั่น Sakai(กำลังการผลิต 135,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่เมืองโอซากา เพราะได้รับความเสียหายจากไต้ฝุ่น Jebi เมื่อวันที่ 4 ก.ย.61 และ บริษัท Idemitsu Kosan ของญี่ปุ่นหยุดดำเนินการการกลั่นและการส่งออกทั้งหมดของโรงกลั่น Hokkaido(กำลังการกลั่น 150,000 บาร์เรลต่อวัน) ทางตอนเหนือของประเทศ จากเหตุแผ่นดินไหวขนาด 6.7 ริกเตอร์ เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 61 ประกอบกับกระทรวงพลังงานรัสเซียรายงานการผลิตน้ำมันเบนซินเดือน ส.ค. 61 ลดลงจากปีก่อน 5.7% มาอยู่ที่ 28.88 ล้านบาร์เรล ด้านปริมาณสำรอง International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 ก.ย. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 130,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 13 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบกว่า 2 เดือน อย่างไรก็ตาม Platts รายงานว่าโรงกลั่นน้ำมัน Jamnagar (กำลังการกลั่น 1.36 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ของ Reliance Industries Ltd. (RIL) ในอินเดียเริ่มกลับมาส่งออกน้ำมันเบนซินสัปดาห์ก่อน หลังประกาศเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) เพราะเหตุขัดข้องที่หน่วย Fluid Catalytic Cracking หรือ FCC (กำลังการผลิต 215,000 บาร์เรลต่อวัน) เมื่อกลางเดือน ส.ค. 61 และ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 1 ก.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 80,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 9.85 ล้านบาร์เรล ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 84.5-89.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้น เนื่องจาก Platts รายงานปริมาณส่งออกน้ำมันดีเซลของจีน เดือน ก.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 28,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 334,000 บาร์เรลต่อวัน และ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 1 ก.ย. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 430,000 บาร์เรล อยู่ที่ 9.90 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม พายุไต้ฝุ่น Jebi ซึ่งมีความรุนแรงที่สุดในรอบ 25 ปี ขึ้นฝั่งญี่ปุ่น บริเวณเขต Kinki ภูมิภาค Kansai สร้างความเสียหายอย่างรุนแรง ต่อบ้านเรือนและเส้นทางขนส่งทำให้การคมนาคมบริเวณที่ไต้ฝุ่นพัดผ่านหยุดชะงัก ประกอบกับ Reuters รายงาน National Agency of Petroleum and Natural Gas and Biofuels (ANP) อนุมัติให้บริษัท Petrobras ของบราซิล กลับมาเดินเครื่องโรงกลั่น Paulina (กำลังการกลั่น 360,000 บาร์เรลต่อวัน และมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ) หลังหยุดดำเนินการเพื่อตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัย โดยมีแผนกลับมาเดินเครื่อง 50% ภายในวันที่ 7 ก.ย. 61 ส่วนอีก 50 % ยังอยู่ระหว่างตรวจสอบ และ IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 ก.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.03 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 11.39 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 5 เดือนครึ่ง ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 89.5-94.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล