กรุงเทพฯ--10 ก.ย.--กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จักรี ศรีนนท์ฉัตร นักวิจัยและอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ออกแบบระบบควบคุมสำหรับโรงเพาะเห็ดถั่งเช่าแบบอัตโนมัติ เพิ่มผลผลิตภัณฑ์ให้เกษตรกร โดยได้รับทุนการวิจัยจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การันตีด้วยรางวัล Gold Medal และรางวัลพิเศษ จาก Romanian Association for Non-conventional Technologies Buscharest,ประเทศโรมาเนีย ในงาน 11th International Warsaw
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จักรี ศรีนนท์ฉัตร เผยว่า จากข้อจำกัดโรงเพาะเห็ดถั่งเช่าเดิม ยากต่อการควบคุมความชื้น อุณหภูมิ แสงสว่างและคาร์บอนไดออกไซด์ ส่งผลต่อเห็ดถั่งเช่าตาย ติดเชื้อรา ทำให้เห็ดถั่งเช่าที่เพาะ ได้ปริมาณที่ลดลง ด้วยเหตุนี้จึงได้ทำการวิจัยและออกแบบระบบควบคุมโรงเพาะเห็ดถั่งเช่าแบบอัตโนมัติ โดยมีขนาด 10 ตารางเมตร สามารถบรรจุเห็ดถั่งเช่าได้อย่างน้อย 3,000 ขวด ประกอบด้วยห้องควบคุมความเย็น ทำจากวัสดุเก็บความเย็นที่มีความหนาอย่างน้อย 50 มม. ภายในโรงเพาะเห็ดถั่งเช่า มีชุดทำความเย็นพร้อมอุปกรณ์เซนเซอร์วัดอุณหภูมิและความชื้น เพื่อตรวจวัดและควบคุมการทำงานของชุดทำความเย็นสลับการทำงานได้ อีกทั้งมีระบบกรองอากาศด้วยแผ่นกรองอากาศชนิดกรองอากาศพร้อมกรองคาร์บอน และมีชุดควบคุมปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (co2) โดยการดูดออกภายนอกห้อง สามารถตั้งเวลาเปิด-ปิดได้ พร้อมระบบควบคุมความเร็วเครื่องดูดอากาศ
อุปกรณ์ภายในของโรงเพาะเห็ดถั่งเช่า สามารถตรวจวัดและบันทึกค่าต่างๆ ได้ รวมถึงแจ้งเตือนไปยังมือถือ ลักษณะการทำงานมีอยู่ 2 โหมด คือโหมดอัตโนมัติและกึ่งอัตโนมัติ ซึ่ง 2 โหมดนี้สามารถตั้งค่าอุณหภูมิ ความชื้นและระบบฆ่าเชื้อ มีการตั้งค่าต่างๆ ไว้ในคอมพิวเตอร์ โดยที่ปั๊มน้ำและเครื่องทำความเย็นสามารถทำงานร่วมกันได้ แล้วยังมีดาต้าล็อตเกอร์ในการจัดเก็บข้อมูล สามารถดูข้อมูลต่างๆ เช่น ความชื้น อุณหภูมิ เวลาเปิด-ปิดเครื่องทำความเย็นย้อนหลังได้
ปัจจุบันระบบควบคุมสำหรับโรงเพาะเห็ดถั่งเช่าแบบอัตโนมัติไปติดตั้งใช้งานจริงในฟาร์มเพาะเห็ดถั่งเช่า ชุมชนวิหารแดง ณ.ฟาร์มเห็ดลุงหยุด อ.วิหารแดง จ.สระบุรี เห็ดถั่งเช่าที่เพาะได้มีความสมบูรณ์ มีสาร Corducepin, Adenosine, และ Polysaccharides เพิ่มขึ้นรวมถึงอัตราการเติบโตของจำนวนเห็ดถั่งเช่ามีอัตราการเติบโตมากขึ้นเมื่อเทียบกับพื้นที่การปลูกแบบเดิม และอัตราการตายที่ลดลง ซึ่งส่งผลให้เกษตรผู้เพาะเลี้ยงสามารถผลิตภัณฑ์ได้มากขึ้น ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร.089-7775038