กรุงเทพฯ--11 ก.ย.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
สพฉ.แจงรถพยาบาลขนยาบ้าไม่ใช่รถที่อยู่ในระบบของสพฉ. เผยถูกยุติการรับรองไปเป็นระยะเวลาหลายปีแล้วเนื่องจากมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะในการทำงาน เลขาสพฉ.ลั่นไม่สนับสนุนรถที่ทำผิดกฎหมายในทุกๆ กรณี พร้อมแนะประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตาสอดส่องรถที่ไม่ถูกต้องผ่านแอพพลิเคชั่น EMS Certified เปิดสายด่วนให้ประชาชนแจ้งเมื่อเจอรถต้องสงสัยได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ภายหลังจากที่มีข่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมรถพยาบาลกลุ่มหนึ่งที่ขนยาเสพติดโดยใช้รถพยาบาลเพื่อตบตาเจ้าหน้าที่นั้น ล่าสุดวันนี้เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้ออกมาระบุถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า จากข้อมูลที่เรารับทราบจากข่าวและจากสื่อมวลชนและเราได้ทำการตรวจสอบในเบื้องต้นแล้วเราพบกว่ารถคันที่ใช้ก่อเหตุนั้นไม่ใช่รถที่อยู่ภายใต้ระบบของ 1669 โดยจะมีรถอยู่ 1 คันที่ติดสติ๊กเกอร์สีเขียวที่เหมือนผ่านการรับรองมาตรฐานรถจากเรา ซึ่งเราเคยรับรองรถคันดังกล่าวจริงและรถคันดังกล่าวเป็นรถหน่วยเสริมของท้องถิ่นแห่งหนึ่งในจังหวัดปทุมธานีซึ่งเป็นรถของบริษัทเอกชนที่ทางท้องถิ่นแห่งนั้นได้จ้างให้มาดำเนินงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่ โดยรถคันดังกล่าวได้ถูกยุติการรับรองไปเป็นระยะเวลาหลายปีแล้วเนื่องจากมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะในการทำงานต่อเพียงแต่ว่าเขาไม่เอาสติ๊กเกอร์ทำให้ดูเหมือนว่าเป็นรถที่ยังทำงานในระบบอยู่ อย่างไรก็ตามตนขอยืนยันว่าแม้รถคันดังกล่าวจะอยู่นอกระบบของสพฉ. แต่นโยบายของ สพฉ.เราชัดเจนคือไม่สนับสนุนการทำผิดกฎหมายในทุกๆ กรณี ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดกฎหมายที่ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร หรือการขับเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดในช่วงที่ไม่ได้มีการไปรับหรือส่งผู้ป่วยเราก็ไม่สนับสนุนให้เกิดเหตุการณ์ละเมิดกฎหมายไม่ว่าจะกรณีใดๆ ยิ่งเป็นการขนยาเสพติดยิ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีใครรับได้เพราะผิดทั้งกฎหมายบ้านเมืองและผิดทั้งจริยธรรมที่นำรถที่จะต้องใช่ส่งผู้ป่วยฉุกเฉินมาทำเช่นนี้
เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า สพฉ.เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉินซึ่งเรามีอำนาจหน้าที่ในการที่จะกำกับมาตรฐานเกี่ยวกับเรื่องของหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินและผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินและสถานพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยที่ผ่านมา สพฉ.ได้ร่วมกับหลากหลายหน่วยงานจัดตั้งสายด่วน 1669 ขึ้นมา และไปการทำงานไปตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย โดยภายในระบบของ 1669 นั้นจะมีหน่วยปฏิบัติการที่ขึ้นทะเบียนกับ 1669 ซึ่งหมายความว่าจะมีรถที่อยู่ในระบบปฏิบัติการในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินทั้งในส่วนของภาครัฐ เช่น โรงพยาบาลของรัฐและโรงพยาบาลของเอกชน ในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาทิ เทศบาลองค์การบริหารส่วนตำบล และในส่วนของมูลนิธิสมาคม นิติบุคคลต่างๆ ซึ่งจากการขึ้นทะเบียนหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉิน 1669 ของเราทั่วประเทศจะมีทั้งหมด 8,700 กว่าหน่วย และเรามีรถปฏิบัติการฉุกเฉินที่อยู่ในระบบและผ่านการจดทะเบียนตามมาตรฐานแล้ว 10,000 คัน
เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ กล่าวต่ออีกว่า ทั้งนี้รถฉุกเฉินที่จะผ่านการตรวจรับรองจะต้องจดทะเบียนถูกต้องตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดไม่ว่าจะเป็นรถตู้ก็จะต้องห้ามดัดแปลงและก็จะต้องเป็นป้ายทะเบียนสีขาวดำเพื่อให้ตรงไปตามกฎหรือระเบียบของกรมขนส่งทางบก ถ้าเกิดเป็นรถตู้ประเภทรถที่เกิน 7 ที่นั่งก็จะเป็นทะเบียนขาวฟ้าอันนี้ก็จะสามารถที่จะมีเตียงเพื่อใช้รองรับผู้ป่วยได้แต่ที่นั่งต้องเกิน 7 ที่นั่ง โดยส่วนใหญ่ในสภาพปัจจุบันตามความเป็นจริง รถตู้เวลาเป็นเก้าอี้นั่งก็จะเกิน 7 ที่นั่งก็จะเป็นทะเบียนขาวฟ้า แต่ว่าเวลาไปดัดแปลงก็จะต้องเป็นทะเบียนขาวดำซึ่งจะต้องเป็นการไปจดทะเบียนหรือไปขออนุญาตจากรมการขนส่งให้เรียบร้อย ซึ่งกระบวนการนี้ไม่เกี่ยวกับสพฉ.แต่ว่าเป็นส่วนที่หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินหรือว่ารถฉุกเฉินเหล่านั้นจะต้องไปดำเนินการมาให้เรียบร้อย โดยนอกจากรถจะต้องเรียบร้อยแล้ว บนรถเองก็จะต้องมีคน จะต้องมีพาหนะ มีอุปกรณ์ต่างๆ ที่อยู่ในนั้นครบตามมาตรฐาน เมื่อผู้ขออนุญาตดำเนินการมาเรียบร้อยแล้วเราถึงจะรับรองมาตรฐานในการออกปฏิบัติงานเพื่อที่จะไปสู่อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องการขออนุญาตจากทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการที่จะใช้สัญญาณไฟวับวาบและการใช้งานเสียงไซเรน ซึ่ง สพฉ.ไม่ได้เป็นหน่วยงานที่อนุญาตในการใช้เสียงไซเรนแต่เป็นเรื่องของตำรวจ ดังนั้นถ้าพูดถึงเรื่องของมาตรฐานในการขออนุญาตขึ้นทะเบียนรถฉุกเฉินแล้วนั้นจะมีการบูรณาการหลายกฎหมายเข้ามาด้วยกันซึ่งสพฉ.จะเป็นหน่วยที่ควบคุมกำกับและรับรองเพื่อที่จะส่งไปตำรวจให้เป็นผู้ที่อนุญาต
เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกล่าว และสำหรับประชาชนทั่วไปที่ต้องการตรวจสอบว่ารถพยาบาลฉุกเฉินที่เราเห็นวิ่งอยู่ตามท้องถนนนั้นเป็นรถที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากสพฉ.แล้วหรือยังก็สามารถตรวจด้วยตนเองได้ง่ายๆ ด้วยแอพพลิเคชั่น EMS Certified ที่ทางสพฉ.เราได้จัดทำขึ้นโดยเมื่อดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นในระบบสมาร์ทโฟนมาแล้วประชานสามารถตรวจสอบได้ 2 ช่องทางคือ 1. ถ่ายรูปถ่ายรูป คิวอาร์โค้ด ของรถปฏิบัติการฉุกเฉินหรือรถกู้ชีพฉุกเฉิน เพื่อนำมาสแกนในแอพพลิเคชั่น ว่าได้ผ่านการรับรองมาตรฐานแล้วหรือยังถ้าไม่ขึ้นในระบบแสดงว่ารถคันดังกล่าวยังไม่ผ่านการรับรองมาตรฐาน และ 2. ตรวจสอบได้โดยการพิมพ์เลขทะเบียนรถ แล้วเลือกชื่อจังหวัดของรถคันนั้น ก็จะสามารถตรวจสอบได้ว่ารถปฏิบัติการฉุกเฉินหรือรถกู้ชีพฉุกเฉินคันดังกล่าวผ่านมาตรฐานหรือไม่เช่นกัน
"นอกจากนี้ยังมีวิธีที่สังเกตง่ายๆ ได้อีกอย่างว่ารถปฏิบัติการฉุกเฉินที่เราเห็นนั้นเป็นรถที่วิ่งในระบบรับส่งผู้ป่วยฉุกเฉินหรือกระทำการอย่างอื่นคือ ในระบบการรับส่งผู้ป่วยฉุกเฉินตามระบบ EMS 1669 เรามีการจำกัดพื้นที่ให้วิ่งได้ภายในระยะทาง 10 กิโลเมตร ซึ่งผมเชื่อว่าในพื้นที่ 10 กม. เจ้าหน้าที่ตำรวจกับรถปฏิบัติการจะต้องรู้จักกันอยู่แล้วดูไม่ยาก แต่ถ้าเป็นกรณีส่งต่อระหว่างจังหวัดหรือนอกพื้นที่ รถปฏิบัติการจะต้องเขียนชื่อโรงพยาบาลโรงพยาบาลและติดสติ๊กเกอร์ที่ชัดเจน แต่ถ้าใช้รถตู้สีขาวไม่เขียนอะไรเลยเขียนแค่คำว่า 1669 กับแอมบูแล๊นซ์เจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะรู้และสามารถเรียกตรวจค้นได้เลย ผมอยากให้ประชาชนช่วยกันสอดส่องนะครับ และเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นรายบุคคล ซึ่งในทุกๆวงการจะมีทั้งคนดีและคนร้าย ถ้าเราเห็นคนร้ายคนไม่ดีในวงการของเราเราต้องรีบคัดออกและอยากให้กำลังใจคนดีๆที่เขากำลังปฏิบัติหน้าที่ด้วยนะครับ และอยากฝากบอกให้ประชาชนให้ช่วยกันตรวจสอบถ้าเราเห็นรถที่ดูแล้วไม่น่าจะได้มาตรฐานหรือเป็นรถที่น่าสงสัยเราก็สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทันที หรือตรวจสอบผ่านแอพพลิเคชั่น EMS Certified และแจ้งหน้าที่สพฉ.ผ่านหมายเลข 02-872-1669 ได้ตลอด 24 ชั่วโมงเลยนะครับ" เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะกล่าว