กรุงเทพฯ--11 ก.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศเพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ของธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB และธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TBANK เป็น 'AA-(tha)' จาก 'A+(tha)' และเพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของบริษัททุนธนชาต จำกัด (มหาชน) (TCAP) ซึ่งบริษัทโฮลดิ้ง (holding company) ของ TBANK เป็น 'A+(tha)' จาก 'A(tha)' และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นเป็น 'F1+(tha)' จาก 'F1(tha)' โดยทั้ง 3 บริษัทมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ พร้อมกันนี้ฟิทช์ได้ปรับเพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 (ตามเกณฑ์บาเซล 3) เป็น 'A+(tha)' จาก 'A(tha)' และเพิ่มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating หรือ VR) ของธนาคารยูโอบี (ไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ UOBT เป็น 'bbb-' จาก 'bb+'
นอกจากนี้ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตอื่นของ TMB TBANK และ UOBT และอันดับเครดิตของธนาคารและสถาบันการเงินไทยที่เป็นบริษัทลูกของสถาบันการเงินต่างประเทศ ดังนี้:
- ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT
- ธนาคารแห่งประเทศจีน (ไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ BOCT
- ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ICBCT
- บริษัท ลีสซิ่งไอซีบีซี (ไทย) จำกัด หรือ ICBCTL
และฟิทช์คงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้มีผู้ค้ำประกันของ บริษัท ซีไอเอ็มบี ไทย ออโต้ จำกัด หรือ CIMBT Auto ซึ่งค้ำประกันโดย CIMBT
สำหรับรายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดแสดงไว้ในส่วนท้าย
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับเครดิตสากล อันดับเครดิตภายในประเทศและอันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ
อันดับเครดิตสากลและอันเครดิตภายในประเทศของ TMB มีปัจจัยสนับสนุนมาจากความแข็งแกร่งทางการเงินของตัวธนาคารเอง ซึ่งสะท้อนได้จากอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร (หรือ VR) การปรับเพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ TMB เนื่องจากฟิทช์ประเมินว่าโครงสร้างเครดิต (credit profile) ระหว่าง TMB กับ ธนาคารพาณิชย์เอกชนรายใหญ่ที่มีอันดับเครดิตที่สูงกว่านั้นมีความแตกต่างกันในระดับที่น้อยลง เช่น ในด้านคุณภาพสินทรัพย์ ทั้งนี้ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ดังกล่าวมีอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ 'AA+(tha)' ในขณะที่มีอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ 'bbb+' ซึ่งเป็นระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตสากลของประเทศไทย ('BBB+'/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) ฟิทช์คาดว่าความแตกต่างในโครงสร้างเครดิตระหว่าง TMB กับ ธนาคารขนาดใหญ่ที่ลดลงแล้วนั้นจะสามารถทรงตัวได้ต่อเนื่องตลอดวัฎจักรเศรษฐกิจ (through economic cycle)
อันดับเครดิตภายในประเทศของ TBANK มีปัจจัยสนับสนุนมาจากความแข็งแกร่งทางการเงินของตัวธนาคารเอง การปรับเพิ่มอันดับเครดิตของ TBANK สะท้อนถึงโครงสร้างการเงินของธนาคารที่ได้ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้านคุณภาพสินทรัพย์ ซึ่งส่งผลให้โครงสร้างเครดิตของ TBANK เมื่อเทียบกับธนาคารขนาดใหญ่ในประเทศที่มีอันดับเครดิตสูงกว่านั้นมีความแตกต่างน้อยลง ทั้งนี้ TBANK เป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่ 6 ในประเทศไทยในด้านเงินฝากและมีความแข็งแกร่งของเครือข่ายธุรกิจภายในประเทศในระดับปานกลาง (a moderate franchise) ในขณะที่ TBANK เป็นผู้นำในด้านธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และยังได้รับการสนับสนุนทางด้านการดำเนินงาน การระดมทุน (funding) และการบริหารจัดการจาก Bank of Nova Scotia (หรือ BNS: AA-/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) โดย BNS มีสัดส่วนการถือหุ้น 49% ใน TBANK
ในการพิจาณาอันดับเครดิตของ TCAP ฟิทช์ปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศของ TCAP ลง 1 อันดับ จากอันดับเครดิตของ TBANK ซึ่งเป็นบริษัทลูกหลักของกลุ่ม เพื่อสะท้อนถึงการด้อยสิทธิทางโครงสร้าง (Structural Subordination) ของ TCAP ในฐานะบริษัทโฮลดิ้ง และสัดส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อย (Minority Interests) ที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งสอดคล้องกับเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์
ฟิทช์ใช้ปัจจัยสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นที่เป็นสถาบันการเงินในการพิจารณาอันดับเครดิตของธนาคารลูก (หรือบริษัทลูก) รายอื่นที่เหลือ โดยฟิทช์เชื่อว่าธนาคารลูกน่าจะได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษที่นอกเหนือจากในการดำเนินงานปรกติ (extraordinary support) ในกรณีที่มีความจำเป็นจากธนาคารแม่ของธนาคารแต่ละแห่ง ซึ่งได้แก่ Bank of China (Hong Kong) Limited. ('A'/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) Industrial and Commercial Bank of China ('A'/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) United Overseas Bank Limited (UOB, 'AA-'/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) และ CIMB Bank Berhad (CIMB Bank) ทั้งนี้ฟิทช์มองว่าธนาคารลูกนั้นมีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ต่อธนาคารแม่และกลุ่ม เนื่องจากการที่ธนาคารแม่มีสัดส่วนการถือหุ้นในระดับสูง มีอำนาจควบคุมการบริหารงานในธนาคารลูกและมีการเชื่อมโยงการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดกันกับกลุ่มในระดับสูง (integration) อีกทั้งยังมีการใช้ชื่อและสัญลักษณ์ทางการค้าร่วมกันกับธนาคารแม่
สำหรับ ICBCTL ฟิทช์มองว่าบริษัทมีสถานะเป็นบริษัทลูกหลัก (core subsidiary) ของ ICBCT จึงพิจารณาให้อันดับเครดิตของ ICBCTL อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตภายในประเทศของ ICBCT ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ทั้งนี้ ICBCTL เป็นผู้ดำเนินธุรกิจเช่าซื้อซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจหลักของ ICBCT โดยสินเชื่อเช่าซื้อมีสัดส่วนประมาณหนึ่งในสามของสินเชื่อรวมของธนาคาร
อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิและโครงการหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของทุกธนาคาร (หรือบริษัท) ได้รับการจัดอันดับเครดิตให้อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตภายในประเทศของแต่ละธนาคาร (หรือบริษัท) ซึ่งสอดคล้องกับเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของฟิทช์
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – หุ้นกู้มีผู้ค้ำประกัน
ฟิทช์ให้อันดับเครดิตหุ้นกู้มีผู้ค้ำประกันของ ICBCTL ซึ่งค้ำประกันโดย ICBCT ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตภายในประเทศของ ICBCT ที่ 'AAA(tha)' เพื่อสะท้อนถึงการได้รับการค้ำประกันในลักษณะไม่มีเงื่อนไขและไม่สามารถเพิกถอนได้สำหรับการชำระหนี้ที่ค้างชำระภายใต้หุ้นกู้ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพของหุ้นกู้มีผู้ค้ำประกันนั้นสอดคล้องกับแนวโน้มอันดับเครดิตของผู้ค้ำประกัน
ในส่วนของ CIMBT Auto ก็เช่นกัน การได้รับการค้ำประกันในลักษณะไม่มีเงื่อนไขและไม่สามารถเพิกถอนได้จาก CIMBT เป็นปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิตของหุ้นกู้มีผู้ค้ำประกันของ CIMBT Auto ทั้งนี้ CIMBT เป็นผู้ถือหุ้นโดยตรงในสัดส่วน 99.99% ใน CIMBT Auto
ปัจจัยสนับสนุนอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
การปรับเพิ่มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ UOBT สะท้อนถึงการที่ธนาคารมีผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีโดยเฉพาะในด้านของรายได้และด้านการระดมเงิน (funding) และสภาพคล่อง ซึ่งฟิทช์คาดว่าธนาคารน่าจะรักษาการปรับตัวที่ดีขึ้นดังกล่าวไว้ได้ในระยะปานกลาง อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ UOBT ยังสะท้อนถึงเครือข่ายทางธุรกิจของธนาคารที่มีขนาดเล็ก (โดยมีเงินฝากเป็นอันดับที่ 8 ในประเทศไทย คิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาดที่ประมาณ 3%) และมีการกระจายตัวของรายได้ในระดับที่ไม่มากนัก อย่างไรก็ตามแม้เครือข่ายธุรกิจจะมีขนาดเล็กแต่ธนาคารมีความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้อันดับเครดิตของ UOBT ยังสะท้อนถึงการสนับสนุนในการดำเนินงานปรกติจากธนาคารแม่ ซึ่งคือ UOB เช่น การสนับสนุนในด้านการตลาด การบริหารจัดการ และการระดมเงิน
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ TMB สะท้อนถึงสถานะทางการเงินของธนาคารและการที่ธนาคารมีเครือข่ายธุรกิจในประเทศที่มีขนาดปานกลาง โดย TMB เป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 7 ในประเทศไทย ในด้านเงินฝาก คิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาดที่ประมาณ 5% ฐานะทางการเงินของ TMB ได้ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและปรับเข้ามาใกล้เคียงมากขึ้นกับธนาคารขนาดใหญ่โดยเฉพาะในด้านคุณภาพสินทรัพย์ ทั้งนี้ฟิทช์คาดว่า TMB น่าจะรักษาฐานะทางการเงินของธนาคารให้มีเสถียรภาพได้ในระดับหนึ่ง แม้ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของธนาคาร (risk appetite) จะมีทิศทางที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสำหรับกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SME) และกลุ่มธุรกิจสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับเครดิตสนับสนุน (Support Rating) และ อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ (Support Rating Floor)
อันดับเครดิตสนับสนุนและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของ TMB พิจารณาจากปัจจัยการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยอันดับเครดิตสนับสนุนที่ 'BB+' สะท้อนถึงความสำคัญของธนาคารต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินในประเทศไทย (systemic importance) ในฐานะที่ TMB เป็นธนาคารขนาดกลาง และอันดับเครดิตสนับสนุนนี้อยู่ต่ำกว่าธนาคารประเภท D-SIBs อยู่ 1 อันดับ
อันดับเครดิตสนับสนุนของ UOBT สะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ที่คาดว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่ UOBT จะได้รับการสนับสนุนจากธนาคารแม่ซึ่งคือ UOB
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิของ TMB ที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 (Basel III-compliant Tier 2 subordinated unsecured notes) เป็นผลมาจากการปรับอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ TMB หุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวได้รับการจัดอันดับเครดิตให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของธนาคารอยู่ 1 อันดับ เพื่อสะท้อนถึงความเสี่ยงของการขาดทุนจากการชำระคืนเงินกู้ (loss-severity risks) ที่มากกว่าเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ที่ไม่ด้อยสิทธิ และการที่ข้อกำหนดสิทธิไม่ได้มีการบังคับตัดหนี้สูญทั้งจำนวน (mandatory full write-down)
ในหลักการเดียวกัน ฟิทช์ให้อันดับเครดิตภายในประเทศแก่หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 ของ ICBCT และ UOBT ต่ำกว่าอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของแต่ละธนาคาร 1 อันดับ เนื่องจากข้อกำหนดสิทธิของหุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวไม่มีคุณสมบัติในการรองรับผลขาดทุนระหว่างการดำเนินกิจการ (going-concern loss absorption feature) และไม่มีการบังคับให้ตัดหนี้สูญทั้งจำนวน (mandatory full write-down)
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับเครดิตสากล อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ
อันดับเครดิตสากล อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ TMB อาจได้รับผลกระทบในทิศทางเดียวกันกับการเปลี่ยนแปลงของอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร
ฟิทช์อาจปรับเพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศของ TBANK หากธนาคารมีโครงสร้างการดำเนินธุรกิจ (company profile) ที่แข็งแกร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และส่งผลให้โครงสร้างทางการเงินของธนาคารปรับตัวดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ในทางกลับกันอันดับเครดิตอาจถูกปรับลดอันดับหากผลการดำเนินงานของธนาคารที่ได้ปรับตัวดีขึ้นกลับปรับตัวแย่ลงอย่างมากเมื่อเทียบกับธนาคารรายอื่นในประเทศ แต่อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้เป็นประมาณการพื้นฐานของฟิทช์ (base case)
การเปลี่ยนแปลงในอันดับเครดิตของ TBANK น่าจะส่งผลกระทบในทิศทางเดียวกันต่ออันดับเครดิตของ TCAP นอกจากนี้ฟิทช์อาจจะปรับอันดับเครดิตของ TCAP ให้ห่างจาก TBANK มากขึ้น หากอัตราส่วนเงินลงทุนในบริษัทลูกและสินทรัพย์ไม่มีตัวตนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (double leverage ratio) ของ TCAP ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยไม่มีความสามารถในการรองรับความเสี่ยงสภาพคล่องที่เพียงพอ
อันดับเครดิตภายในประเทศของ BOCT, ICBCT และ ICBCTL เป็นอันดับเครดิตที่อยู่ในระดับสูงสุด จึงไม่มีปัจจัยใดที่อาจทำให้อันดับเครดิตได้รับการปรับเพิ่ม อย่างไรก็ตามฟิทช์อาจปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศของ BOCT ICBCT และ ICBCTL ในกรณีที่อันดับเครดิตของบริษัทแม่ถูกปรับลดอันดับต่ำกว่าอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาว (Long-Term Local Currency IDR) ของประเทศไทย นอกจากนี้ฟิทช์อาจปรับอันดับเครดิตของธนาคารลูก หากฟิทช์มองว่ามีการเปลี่ยนแปลงของโอกาสที่ธนาคารแม่จะให้การสนับสนุนพิเศษที่นอกเหนือจากการสนับสนุนในด้านการดำเนินงานปรกติแก่ธนาคารลูก ทั้งนี้กรณีดังกล่าวอาจเกิดขึ้นหากธนาคารแม่ลดสัดส่วนการถือหุ้นลงอย่างมีนัยสำคัญหรือมีระดับการให้การสนับสนุนทางการเงินที่ลดลง โดยเหตุการณ์ดังกล่าวอาจบ่งชี้ถึงการลดลงของโอกาสในการให้การสนับสนุนและน่าจะส่งผลกระทบในเชิงลบต่ออันดับเครดิตของธนาคาร
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ UOBT เป็นอันดับเครดิตที่อยู่ในระดับสูงสุด จึงไม่มีปัจจัยใดที่อาจทำให้อันดับเครดิตได้รับการปรับเพิ่ม ในขณะเดียวกันอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ UOBT จะได้รับผลกระทบในทิศทางเดียวกันกับการเปลี่ยนแปลงของเพดานอันดับเครดิตของประเทศไทย (Country Ceiling) ซึ่งปัจจุบันเป็นปัจจัยที่จำกัดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างระยะยาวของ UOBT ที่ 'A-' ในขณะที่ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ UOB อาจไม่จะส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของ UOBT ในทิศทางเดียวกันเสมอไป ทั้งนี้ฟิทช์อาจปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ UOBT ในกรณีที่ UOB ถูกปรับลดอันดับเครดิตลงหลายอันดับจากระดับปัจจุบันที่ 'AA-'
ฟิทช์อาจปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศของ CIMBT หากโครงสร้างเครดิตของธนาคารแม่ (หรือ CIMB Bank) ปรับตัวแย่ลงหรือหากธนาคารแม่ลดโอกาสในการให้การสนับสนุนเป็นพิเศษที่นอกเหนือจากการสนับสนุนในด้านการดำเนินงานปรกติแก่ธนาคารลูก ทั้งนี้การลดลงของโอกาสในการให้การสนับสนุนอาจจะแสดงได้จากการลดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทลูกลงอย่างมาก หรือการลดลงของระดับการสนับสนุนทางการเงิน เป็นต้น
อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ UOBT CIMBT และ ICBCTL จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกันกับการเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคารแต่ละแห่ง (หรือบริษัท)
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – หุ้นกู้มีผู้ค้ำประกัน
อันดับเครดิตของหุ้นกู้มีผู้ค้ำประกันของ ICBCTL เป็นอันดับเครดิตที่อยู่ในระดับสูงสุด จึงไม่มีโอกาสที่อันดับเครดิตจะได้รับการปรับเพิ่ม อันดับเครดิตของหุ้นกู้มีผู้ค้ำประกันของ ICBCTL อาจได้รับผลกระทบจากการปรับลดอันดับเครดิตของ ICBCT
สำหรับ CIMBT Auto ก็เช่นกัน อันดับเครดิตของหุ้นกู้มีผู้ค้ำประกันของบริษัทจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ CIMBT
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
อันดับความเข็งแกร่งทางการเงินของ TMB อาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับ หากธนาคารมีเครือข่ายธุรกิจในประเทศที่แข็งแกร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญพร้อมทั้งมีอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ (core financial metrics) ส่วนใหญ่ เช่น อัตราส่วนทางการเงินในด้านรายได้และเงินกองทุน ที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและต่อเนื่องในระยะปานกลาง โดยที่ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้น ในทางกลับกันอันดับความเข็งแกร่งทางการเงินอาจได้รับผลกระทบในทางลบถ้าผลการดำเนินงานและอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญมีการปรับตัวลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับทั้งธนาคารอื่นในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ตัวอย่างเหตุการณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นจากการปรับตัวแย่ลงมากกว่าคาดการณ์ในสภาวะแวดล้อมการดำเนินงาน
ฟิทช์อาจปรับเพิ่มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ UOBT หากธนาคารสามารถรักษาความสามารถในการทำกำไรให้ปรับตัวดีขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งมีเครือข่ายและขนาดธุรกิจในประเทศที่แข็งแกร่งขึ้นและสามารถเทียบเคียงได้กับธนาคารขนาดกลางของไทยรายอื่น แต่อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้น ในทางกลับกันฟิทช์อาจปรับลดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารหากความสามารถในการทำกำไร คุณภาพสินทรัพย์ และฐานะเงินกองทุนปรับตัวแย่ลงอย่างมาก ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการที่ธนาคารเพิ่มระดับความเสี่ยงที่มากกว่าคาดการณ์
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับเครดิตสนับสนุนและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ
ฟิทช์อาจปรับอันดับเครดิตสนับสนุนและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของ TMB หากฟิทช์เชื่อว่ามีการเปลี่ยนแปลงในความสำคัญของ TMB ต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินในประเทศ
อันดับเครดิตสนับสนุนของ UOBT ที่ '1' เป็นอันดับเครดิตสนับสนุนที่สูงที่สุดจึงไม่มีปัจจัยใดที่อาจทำให้อันดับเครดิตได้รับการปรับเพิ่ม
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ
อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิของ TMB ICBCT และ UOBT จะได้รับผลกระทบในทิศทางเดียวกันจากปัจจัยที่มีผลกระทบต่ออันดับเครดิตภายในประเทศของแต่ละธนาคาร
รายละเอียดของอันดับเครดิตมีดังต่อไปนี้:
TMB:
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว คงอันดับที่ 'BBB-'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น คงอันดับที่ 'F3'
- อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน คงอันดับที่ 'bbb-'
- อันดับเครดิตสนับสนุน คงอันดับที่ '3'
- อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ คงอันดับที่ 'BB+'
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว ปรับเพิ่มอันดับเป็น 'AA-(tha)' จาก 'A+(tha)'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับที่ 'F1+(tha)'
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ของโครงการหุ้นกู้ Euro Medium-Term Note มูลค่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ คงอันดับที่ 'BBB-'
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน คงอันดับเครดิตที่ 'BBB-'
- อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 (ตามเกณฑ์บาเซล 3) ปรับเพิ่มอันดับเป็น 'A+(tha)' จาก 'A(tha)'
TBANK
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว ปรับเพิ่มอันดับเป็น 'AA-(tha)' จาก 'A+(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับเครดิตที่ F1+(tha)
TCAP
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว ปรับเพิ่มอันดับเป็น 'A+(tha)' จาก 'A (tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นปรับเพิ่มอันดับเป็น 'F1+(tha)' จาก 'F1(tha)'
UOBT:
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวคงอันดับที่ 'A-'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ 'F2'
- อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน ปรับเพิ่มอันดับเป็น 'bbb-' จาก 'bb+'
- อันดับเครดิตสนับสนุนคงอันดับที่ '1'
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวคงอันดับที่ 'AAA(tha)'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ 'F1+(tha)'
- อันดับเครดิตในประเทศของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันคงอันดับที่ 'AAA(tha)'
- อันดับเครดิตในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 คงอันดับที่ 'AA+ (tha)'
CIMBT:
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวคงอันดับที่ 'AA-(tha)'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ 'F1+(tha)'
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นของโครงการหุ้นกู้ระยะสั้น ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน คงอันดับที่ 'F1+(tha)'
CIMBT Auto:
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ของหุ้นกู้มีผู้ค้ำประกันคงอันดับที่ 'AA-(tha)'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
BOCT:
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวคงอันดับที่ 'AAA(tha)'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ 'F1+(tha)'
ICBCT:
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวคงอันดับที่ 'AAA(tha)'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ 'F1+(tha)'
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 (ตามเกณฑ์บาเซล 3) คงอันดับที่ 'AA+(tha)'
ICBCTL:
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวคงอันดับที่ 'AAA(tha)'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ 'F1+(tha)'
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ค้ำประกันโดย ICBCT คงอันดับที่ 'AAA(tha)'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน คงอันดับที่ 'AAA(tha)'
- อันดับเครดิตภายในประเทศของโครงการหุ้นกู้ MTN คงอันดับที่ 'AAA(tha)'/'F1+(tha)'