กรุงเทพฯ--11 ก.ย.--สํานักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม
นายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ และนโยบายรัฐบาลที่ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนามิติด้านวัฒนธรรม โดยการนำทรัพยากรทางวัฒนธรรม มาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ดังนั้น กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม จัดทำโครงการส่งเสริมชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน และต่อยอดให้ชุมชนคุณธรรมฯต้นแบบทั่วประเทศผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (Cultural Product of Thailand : CPOT) ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนามาจากวัฒนธรรมไทย มีคุณค่า ความหมาย เรื่องราว ด้านวัฒนธรรม อันเป็นรากเหง้าที่ได้รับการสืบสาน สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ บ่งบอก อัตลักษณ์ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างเป็นสินค้าเชิงพาณิชย์ แบ่งเป็น 5 กลุ่ม 1. อาหาร 2. ผลิตภัณฑ์จากผ้า 3. เครื่องประดับ 4. ของใช้ ของตกแต่ง 5. ศิลปะการแสดง ศิลปะการต่อสู้ การละเล่น
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าว ล่าสุดได้จัด "โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ ของชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอพียง เพื่อพัฒนาไปสู่ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรม" โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญทางด้านต่างๆ มาอบรมให้ความรู้ทั้งทางด้านการออกแบบ การเลือกใช้วัสดุ และแนวโน้มการตลาดสินค้าทางวัฒนธรรมกับชุมชน ผู้ประกอบการเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมที่มีสวยงามร่วมสมัย ได้คุณภาพ และตอบโจทย์การใช้งานให้ได้มากที่สุด ซึ่งได้คัดผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทยจากชุมชนคุณธรรม 62 ชุมชน ที่มีความโดดเด่น ไปร่วมจัดแสดงผลิตภัณฑ์ต้นแบบและจำหน่ายสินค้า ให้สอดคล้องกับแนวทางการจัดงาน"ศิลปาชีพ ประทีปไทย OTOP ก้าวไกล ด้วยพระบารมี "ระหว่างวันที่ 11 – 19 สิงหาคม 2561 ณ ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็คเมืองทองธานี ที่ผ่านมา
"จากการนำผลิตภัณฑ์ฯต้นแบบไปจัดแสดงและจำหน่าย อาทิ ผลิตภัณฑ์ดอกไม้เกล็ดปลา ของชุมชนคุณธรรมวัดเขาแก้ว จ.ตรัง , ผลิตภัณฑ์จากเชือกกล้วย ของชุมชนคุณธรรมวัดเจ็ดเสมียน จ.ราชบุรี ,ผลิตภัณฑ์ตะกร้าลายดาว ของชุมชนคุณธรรมบ้านพระธาตุขิงแกง จ.พะเยา และผลิตภัณฑ์ผ้าไหมนาดี ของชุมชนคุณธรรมบ้านนาดี จ.อุดรธานี ผลปรากฎว่าได้รับผลตอบรับอย่างดีมีประชาชนสนใจเป็นอย่างมากโดยเฉพาะเรื่องราวความเป็นมาของวัสดุเฉพาะถิ่น แนวคิด แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์และขั้นตอนการผลิต ส่งผลให้มียอดการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์กับผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และจากการสอบถามผู้ประกอบการเขารู้สึกดีใจมากที่ชุมชนสามารถมีโอกาสได้พัฒนาผลิตภัณฑ์และสามารถก้าวข้ามผ่านรูปแบบการผลิตเดิม โดยไม่ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตของตนเอง รูปแบบสินค้าที่ต่อยอดมาในท้องตลาดทั่วไปอาจไม่ใช่สิ่งที่แปลกใหม่นัก แต่สำหรับชุมชนนับเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อน การเริ่มต้นใหม่อาจจะยากแต่เมื่อทำสำเร็จแล้วก็เกิดความภาคภูมิใจ ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีและนับเป็นการพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาและสร้างรายได้อย่างยั่งยืน ซึ่งการทำผลิตภัณฑ์ CPOT นั้นอยากให้ทุกชุมชนภูมิใจในความเป็นไทย พึ่งพาตนเองได้ สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ด้วย"ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าว