กรุงเทพฯ--11 ก.ย.--บีโอไอ
บีโอไอจับมือมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง เผยผลศึกษาโอกาสและลู่ทางการลงทุนไทยในกลุ่มประเทศตลาดใหม่ 5 ประเทศ ได้แก่ อิหร่าน เคนยา ซูดาน อินเดียและบังคลาเทศ พร้อมสรุปขั้นตอนลงทุนเป็นคู่มือทำธุรกิจ เผยกลุ่มตลาดใหม่มีโอกาสต่อยอดการลงทุนสูง เช่น ซูดานอ้าแขนรับทุนไทยทุกอุตสาหกรรม เคนยามีนโยบายรับซื้อสินค้าของนักลงทุน
นายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (มูลนิธิ สวค.) จัดทำผลศึกษาข้อมูลด้านการลงทุนของกลุ่มประเทศตลาดใหม่ ได้แก่ สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน สาธารณรัฐเคนยา สาธารณรัฐซูดาน สาธารณรัฐอินเดียและสาธารณรัฐประชาชนบังคลาเทศ ซึ่งบีโอไอได้จัดทำเป็นข้อมูลเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนไทยได้ศึกษาเพื่อเตรียมพร้อมก่อนไปลงทุนจริงในต่างประเทศ
สาระสำคัญของข้อมูล ประกอบด้วย ขั้นตอนการเริ่มต้นทำธุรกิจ หน่วยงานที่ต้องติดต่อประสานงาน ข้อกฎหมายที่ควรรู้ ตลอดจนกลยุทธ์ในการทำธุรกิจแต่ละประเภท ซึ่งผ่านการคัดกรองจากผู้เชี่ยวชาญแล้ว ทั้งนี้เนื่องจากแต่ละประเทศจะมีกฎระเบียบและข้อปฏิบัติด้านการลงทุนที่ต่างกัน หากนักลงทุนไทยได้ข้อมูลที่สมบูรณ์จะช่วยลดความเสี่ยงหรือปัญหาอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นได้
"การส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ เป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของบีโอไอ เพื่อส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพให้ผู้ประกอบการ โดยผลการศึกษาโอกาสการลงทุนในกลุ่มประเทศตลาดใหม่ทั้ง 5 ประเทศ พบว่ายังมีโอกาสที่จะเข้าไปลงทุนสูงเนื่องจากยังมีผู้บุกเบิกเข้าไปไม่มากนัก โอกาสทางธุรกิจจึงยังเปิดกว้างสำหรับนักลงทุนไทย ขณะเดียวกันยังพบว่าอุปสรรคสำคัญของนักลงทุนส่วนใหญ่อยู่ที่ขั้นตอนการเริ่มต้นทำธุรกิจ จึงเชื่อว่าผลการศึกษาครั้งนี้จะมีส่วนช่วยให้นักลงทุนไทยได้ใช้เป็นข้อมูลต่อยอดประกอบการพิจารณาตัดสินใจ เกี่ยวกับข้อดีข้อเสียก่อนในการเข้าไปลงทุนในแต่ละประเทศ" นายโชคดีกล่าว
สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน มีทรัพยากรที่สมบูรณ์ ทั้งน้ำมัน เหมืองแร่ และทรัพยากรทางทะเล นักลงทุนไทยควรเตรียมความพร้อมทั้งเรื่องของค่าเงิน กฎระเบียบด้านการลงทุนและผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรของนานาชาติ หากตรวจสอบว่าไม่ติดขัดกับมาตรการคว่ำบาตรก็สามารถลงทุนได้ โดยอิหร่านมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่น่าสนใจ คือ รัฐบาลจะสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น นิคมอุตสาหกรรม ค่าน้ำ ค่าไฟ ขณะที่อุตสาหกรรมที่อิหร่านต้องการให้เข้ามาลงทุน คือ พลังงานแสงอาทิตย์
สาธารณรัฐเคนยา จุดเด่นสำคัญคือ เรื่องกฎระเบียบที่รัฐบาลเคนยากำลังปรับปรุงให้ง่ายและสะดวกต่อการลงทุน ซึ่งนอกจากนโยบายด้านการลงทุนจะส่งเสริมผ่านมาตรการทางภาษีแล้ว ยังมีความน่าสนใจอยู่ที่เคนยายินดีรับซื้อสินค้าผ่านนโยบาย "Buy Kenya Build Kenya" แต่ก็มีข้อจำกัดเรื่องตลาดในประเทศที่มีขนาดเล็ก ทำให้มีกำลังซื้อน้อย ประชากรมีรายได้ต่อหัวต่ำ นักลงทุนไทยเหมาะที่จะใช้เคนยาเป็นฐานการผลิตเพื่อขยายการลงทุนไปยังตลาดยุโรปและอาหรับ อุตสาหกรรมที่เคนยาต้องการคือ พลังงาน เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหาร ยาและเวชภัณฑ์
สาธารณรัฐซูดาน เป็นประเทศที่มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติเต็มที่ รัฐบาลซูดานเห็นว่าการพัฒนาประเทศที่สำคัญต้องมาจากแรงผลักดันจากต่างชาติ จึงให้นักลงทุนต่างชาติถือครองกิจการได้ 100% และซูดานพร้อมที่จะปรับตัวร่วมมือกับนักลงทุนต่างชาติอย่างเต็มที่โดยเฉพาะไทย ซูดานจึงเป็นประเทศเป้าหมายลำดับต้นๆ ของนักลงทุนไทย โดยซูดานต้องการกระตุ้นการลงทุนในทุกอุตสาหกรรม แต่ที่ต้องการเป็นพิเศษ ได้แก่ น้ำมัน ทองคำ และสินค้าเกษตร
สาธารณรัฐอินเดีย ผลการศึกษาครั้งนี้ได้ศึกษาเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (North East Region: NER) ซึ่งพบว่า เหมาะที่นักลงทุนไทยจะใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นฐานแปรรูปทรัพยากรธรรมชาติที่มีเป็นจำนวนมาก หลังจากนั้นจึงขยายไปยังตลาดที่ใหญ่กว่าได้แก่ บังคลาเทศ อินเดียส่วนกลาง และทิเบต กลยุทธ์ในการทำธุรกิจ คือควรหาผู้ร่วมธุรกิจที่เป็นคนในพื้นที่เพื่อสร้างการยอมรับในคุณภาพสินค้า โดยอุตสาหกรรมที่เหมาะในการลงทุนคือ เกษตรแปรรูป สินค้าอุปโภคบริโภค ยาเวชภัณฑ์ ร้านอาหาร และห้างสรรพสินค้า
สาธารณรัฐประชาชนบังคลาเทศ จุดเด่นที่น่าสนใจ คือ เรื่องต้นทุนค่าแรงที่ต่ำและมีแรงงานในระบบจำนวนมาก นักลงทุนไทยควรใช้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและการออกแบบที่สูงกว่าเข้าไปพัฒนาบุคลากรเพื่อเป็นฐานการผลิตสินค้าเพื่อขายในประเทศหรือส่งออกไปยังสหภาพยุโรป ขณะที่จุดที่ควรระมัดระวังของบังคลาเทศ คือมาตรการและกฎระเบียบต่าง ๆ มีความซับซ้อน อุตสาหกรรมที่นักลงทุนไทยควรไปลงทุน คือ อาหาร เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมพลังงาน และอุตสาหกรรมสิ่งทอ