กรุงเทพฯ--11 ก.ย.--สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
สุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยว่า หนึ่งในพันธกิจหลักของการดำเนินโครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ (Start Up) ปี 2561 นี้ คือการช่วยให้ผู้ประกอบการได้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง และยั่งยืน จึงได้ปรับรูปแบบการดำเนินการให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดยุคปัจจุบัน ที่ต้องบูรณาการศักยภาพของผู้ประกอบการในทุกมิติเพื่อให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย โดยผสานความร่วมมือกับหน่วยร่วมและหน่วยงานท้องถิ่นต่างๆ อย่างสร้างสรรค์ ผ่านการลงพื้นที่ปฏิบัติการเชิงลึกในหลายภูมิภาคของประเทศ สำหรับพื้นที่ภาคใต้ ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หน่วยร่วมรับผิดชอบโครงการในพื้นที่ภาคใต้ 14 จังหวัด จากผู้สมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 1,184 ราย ซึ่งทุกรายได้รับการอบรมความรู้พื้นฐานในการดำเนินธุรกิจสมัยใหม่ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยเครื่องมือดิจิทัล ก่อนจะถูกคัดเลือกเพื่อเข้ารับการอบรมเขียนแผนธุรกิจ โดยคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีศักยภาพตรงตามเกณฑ์เข้าสู่การพัฒนาเชิงลึก จนสามารถนำสินค้าออกสู่ท้องตลาดเพื่อสร้างการรับรู้ของประชาชนและเพิ่มช่องทางจัดจำหน่าย ซึ่งมีผู้ผ่านการคัดเลือกประมาณ 150 ราย
ทั้งนี้เพื่อบูรณาการการสนับสนุนแบบครบวงจร จึงได้จัดงานแสดงสินค้า "เทศกาลของดีภาคใต้ ครั้งที่ 2" ณ หาดใหญ่ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล หาดใหญ่ เมื่อเร็วๆนี้ เพื่อเป็นเวทีทดสอบจริงสำหรับผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือก โดยภายในงานได้เปิดจำหน่ายสินค้าและทดสอบตลาดแบบออฟไลน์กว่า 150 บูธ สร้างการเรียนรู้กลุ่มลูกค้าเพื่อค้นหาลูกค้าหลักของธุรกิจตนเอง เพิ่มโอกาสต่อยอดทางธุรกิจผลักดันเข้าสู่ช่องทางการตลาดออนไลน์ในอนาคต ทั้งนี้ตลอดช่วงระยะเวลาการจัดงาน พบว่ามีคู่ค้าเข้าร่วมงาน 452 ราย มูลค่าการซื้อขายและยอดสั่งซื้อรวมกว่า 7 ล้านบาท
นอกจากนี้ ในภาคกลาง ยังเป็นอีกหนึ่งโมเดลที่สะท้อนถึงความร่วมมือระหว่าง สสว. ซึ่งเป็นหน่วยงานส่วนกลางและส่วนจังหวัดโดย นายคันฉัตร ตันเสถียร ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม ลงพื้นที่ อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม พบว่าวิสาหกิจชุมชนและวิสาหกิจรายย่อยในพื้นส่วนใหญ่เป็นภาคการเกษตร ซึ่งในอดีตพื้นที่ชุมชนพึ่งพาวิถีการเกษตรเป็นหลัก ผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นจึงผลิตภัณฑ์เกษตรแบบดั้งเดิมและมีการแปรรูปตามภูมิปัญญาท้องถิ่น ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับมูลค่าสินค้า ดังนั้นหากมีการแปรรูปอย่างมีมาตรฐานรองรับ ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัย จะช่วยให้สินค้ามีความโดดเด่น เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการในท้องถิ่น และเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ซึ่งการพัฒนาต้องคงความเป็นวิถีชุมชนดั้งเดิมไว้ เพื่อสร้างอัตลักษณ์ และสามารถต่อยอดให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงเกษตรควบคู่ไปกับการท่องเที่ยววิสาหกิจชุมชนเกษตรสวนนอก ซึ่งปัจจุบันได้เกิดเป็นเส้นทางการท่องเที่ยววิถีชุมชนเกษตรสวนนอก อ. บางคนที จ.สมุทรสงคราม ประกอบด้วย
1. เกษตรสวนนอก เรียนรู้การทำน้ำมันมะพร้าวและผลิตภัณฑ์จากน้ำมันมะพร้าว เช่น โลชั่น ลิปบาล์ม วิตามินบำรุงผมสบู่สมุนไพร สครับขัดผิว โดยผลิตภัณฑ์ทุกอย่างมีส่วนผสมของน้ำมันมะพร้าวสกัด
2. สวนหนึ่งเพชร สวนมะพร้าวน้ำหอม สวนสมุนไพร
3. บ้านหมอดิน ปราชญ์ชาวบ้านเรื่องการบำรุงดิน
4. วัดคริสต์ใน
5. ฟาร์มไส้เดือนตาหวาน เลี้ยงไส้เดือนทำปุ๋ยมูลไส้เดือน
6. สวนส้มโอ เรียนรู้การปลูก ขยายพันธุ์ดูกิ่ง
7. สวนสนธยา ดูการเลี้ยงชันโรง แมลงตัวเล็กที่มีประโยชน์
8. บ้านดินหอม ปั้นดินให้เป็นดอกไม้สวยงาม
9. น้ำยาเอนกประสงค์ ทำน้ำหมักและน้ำยาต่างๆ
10. ตลาดน้ำสามอำเภอและโบสถ์บางนกแขวก
ทั้งนี้เส้นทางการท่องเที่ยวดังกล่าว ช่วยหนุนให้เกิดการเรียนรู้พัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างไม่หยุดนิ่ง ดึงรายได้เข้าสู่ชมชนตามแผนพัฒนายกระดับผู้ประกอบการท้องถิ่นตามพันธกิจหลักของ สสว. อีกทั้งยังสอดคล้องกับแผนการประชาสัมพันธ์ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในการประชาสัมพันธ์ชุมชน สินค้าและบริการเพื่อการท่องเที่ยว และเป็นทางเลือกใหม่ๆ สำหรับนักเดินทางที่ชื่นชอบการเดินทางเพื่อสร้างประสบการณ์ดีๆในท้องถิ่น ซึ่งกิจกรรมเพื่อการท่องเที่ยวเหล่านี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยในชุมชน สร้างรายได้และความเข้มแข็งในท้องถิ่น นับเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศแบบวิถีชุมชนให้มีความยั่งยืน