กรุงเทพฯ--12 ก.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
ในสภาวะที่เปลี่ยนแปลงไปของโลกในทุกมิติ อัตราการเกิดของประชากรเริ่มลดลง ส่งผลให้โลกกำลังดำเนินเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวในอนาคตอันใกล้ ตลอดจนเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ก้าวล้ำไป จนสามารถทำลายข้อจำกัดในหลากหลายมิติ อันเป็นเหตุของการเกิดองค์ความรู้ใหม่ขึ้นมาทดแทนองค์ความรู้เดิม องค์ความรู้ในอดีตและการเรียนรู้รูปแบบเก่านั้น จึงไม่ตอบสนองบริบทของโลกยุคปัจจุบัน รวมทั้งไม่ตอบโจทย์ผู้เรียนยุคใหม่
รองศาสตราจารย์เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า จากสภาวะโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มธ. จึงปรับยุทธศาสตร์ด้านวิชาการ ให้ตอบสนองกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกและตอบโจทย์ผู้เรียนยุคใหม่ โดยเน้นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการศึกษาเข้ามายกระดับการเรียนรู้ การปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับการเรียนรู้แบบแอคทีฟ (Active Learning Environment) และเปลี่ยนรูปแบบการสอนให้ตอบโจทย์ความต้องการผู้เรียนยุคใหม่ ผ่าน 5 แนวทาง ได้แก่
- เรียนแบบเดิมไม่ตรงใจ เปลี่ยนรูปแบบใหม่เป็นเรียนแบบแอคทีฟ (Active Learning)
1. ปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนในวิชาศึกษาทั่วไป (General Education Reforming) ออกแบบการเรียน การสอนของวิชาศึกษาทั่วไปทั้ง 10 วิชา ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีลักษณะเป็นผู้นำ ก้าวทันโลกยุคปัจจุบัน เน้นการเชื่อมโยงให้รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ผ่านกระบวนโดยสร้างบรรยากาศการเรียนรู้แบบแอคทีฟ (Active Learning Environment) อาทิ ห้องเรียนที่เอื้อต่อการเรียนรู้แบบแอคทีฟและพื้นที่ทำงานร่วมกัน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรมและสิ่งรอบตัว รวมทั้งอาจารย์ผู้สอนจะให้ความรู้ผ่านการตั้งโจทย์และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ค้นคว้าหาความรู้และประยุกต์ใช้ความรู้
- เพิ่มคลาสรูมออนไลน์ อยู่ที่ไหนของโลกก็เรียนได้
2. ส่งเสริมการเรียนรู้แบบ อี-เลิร์นนิ่ง (e-Learning Initiatives) โดยตั้งเป้าผลิตสื่อการสอนแบบออนไลน์ 40 วิชาต่อปี เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงได้จากทุกที่ ทุกเวลา รวมทั้งผู้เรียนยังสามารถกลับมาทบทวนความรู้ที่ตนต้องการได้ทุกเมื่อ อีกทั้งผู้เรียนสามารถวางแผนการใช้ชีวิตของตนเอง สามารถสร้างสมดุลระหว่างการเรียนและการใช้ชีวิตที่เหมาะสม นอกจากนี้ในอนาคตจะเปิดโอกาสให้คนภายนอกได้เข้ามาศึกษาตามความสนใจอีกด้วย
- ปลุกธรรมศาสตร์ตลาดวิชา ตอกย้ำมหาวิทยาลัยเพื่อการศึกษาของประชาชน
3. เปิดตัว "เจน เน็กซ์ อะคาเดมี่" (Gen Next Academy) ระบบการรู้ออนไลน์ที่เปิดโอกาสให้กลุ่มคนทั้ง 3 กลุ่ม ได้แก่ นักเรียน มัธยม วัยทำงาน และวัยเกษียณ สามารถเข้าคอร์สเรียนเพิ่มเสริมทักษะ เพื่อทบทวนความรู้เดิมและแสวงหาความรู้ใหม่ ตามความต้องการและสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้ทั้งแบบออนไลน์และเข้าร่วมศึกษาในชั้นเรียน ซึ่งผู้เรียนสามารถเข้าร่วมได้โดยไม่จำกัดวุฒิและอายุ รวมทั้งสามารถรับประกาศนียบัตร อนุปริญญาหรือปริญญาบัตร ตามข้อกำหนดของแต่ละหลักสูตร อาทิ นักเรียนมัธยม สามารถนำเครดิตจากการศึกษาในเจน เน็กซ์ อะคาเดมี่ ไปใช้ทดแทนการเรียนในรายวิชาเดียวกัน หากเข้าศึกษาต่อที่ มธ.
- ยกระดับคณาจารย์ยุคใหม่ ไร้ภาระเกินจำเป็น เน้นการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ
4. พัฒนากรอบมาตรฐานวิชาชีพอาจารย์ (Professional Standard Framework) ปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอน ให้เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางและเน้นการสอนแบบแอคทีฟ ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้คิด ประยุกต์และค้นคว้ามากกว่าการสอนแบบบรรยาย รวมทั้งส่งเสริมให้คณาจารย์ ให้มีทักษะด้านการสร้างอี เลิร์นนิ่งและมีความรู้ด้านเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสอนและสร้างประสบการณ์การเรียนรู้แนวใหม่ให้กับผู้เรียน ตลอดจนกำหนดภาระงานใหม่ ลดภาระงานที่ไม่จำเป็น เพื่อมุ่งความสนใจไปที่การสอนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งส่งเสริมด้านทุนการศึกษาและการวิจัย เพื่อการต่อยอดองค์ความรู้ของคณาจารย์
- ศาสตร์เดียวไม่ตอบโจทย์ เปิดโหมดเรียนข้ามสาย
5. มหาวิทยาลัยอิสระแห่งการเรียนรู้ (University of Choices) เปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถกำหนดการเรียนรู้ตามที่ตนสนใจได้อย่างอิสระ โดยสามารถให้เลือกเรียนวิชาโทข้ามศาสตร์วิชาอย่างไม่มีข้อกำหนด และไม่บังคับให้ผู้เรียนต้องเลือกวิชาหลักตั้งแต่เริ่มเข้าศึกษา แต่จะให้เลือกหลังจากเรียนไปแล้ว 3 ภาคการศึกษา ลดปัญหาการเรียนไม่ตรงกับความต้องการ นอกจากนี้ผู้เรียนทุกคนจะต้องสอบข้อสอบ GREATS ข้อสอบวัดทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานและใช้ชีวิต อาทิ การรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ความคิดสร้างสรรค์และการสื่อสาร ฯลฯ เพื่อนำไปใช้ในการสมัครงานควบคู่กับผลการเรียนรู้ทางวิชาการ
"...ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปเร็วเพียงใด มธ.จะต้องก้าวไปให้ทันและพร้อมเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ด้วยการสร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพและคุณสมบัติเป็นผู้นำยุคใหม่ ที่พร้อมใช้องค์ความรู้รับมือกับสภาวะโลกที่เปลี่ยนแปลง..." รองศาสตราจารย์เกศินี กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทรศัพท์ 02-564-4493 หรือเว็บไซต์ www.tu.ac.th/news