กรุงเทพฯ--12 ก.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ดำเนินการจัดฝึกอบรมการใช้งานเครื่องมือและอุปกรณ์พื้นฐานเกี่ยวกับการติดตั้งและบำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศที่ใช้สารไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน หรือ HFC-32 เป็นสารทำความเย็นให้กับช่างติดตั้งและซ่อมบำรุงในภาคอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ โดยมีวัตถุประสงค์ให้กลุ่มดังกล่าวมีความรู้ความสามารถต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีสารทำความเย็น HFC-32 แทนการใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน ( HCFC หรือ R-22 ) พร้อมด้วยเทคนิคต่างๆที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ การดำเนินความร่วมมือดังกล่าว ยังเป็นแนวทางที่สำคัญในการลดการทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน การประหยัดพลังงาน และลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสภาพภูมิอากาศโลก
ร้อยเอกธเนศ จันทกลิ่น รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ดำเนินโครงการลดและเลิกใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (HCFC)ของประเทศไทย (Thailand HCFC Phase-out Project : HPMP) โดยได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนพหุภาคีพิธีสารมอนทรีออล ในการสนับสนุนผู้ประกอบการผลิตเครื่องปรับอากาศให้ปรับเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีทำความเย็นทดแทนไฮโดรฟลูออโรคอาร์บอน (HFC-32 หรือ R-32) แทนสาร HCFC หรือ R-22 เพื่อลดการทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน ประหยัดพลังงาน และไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศโลก โดยในการดำเนินโครงการยังมีเป้าหมายในการลดและเลิกใช้สาร HCFC ในประเทศไทยให้เป็นศูนย์ให้ได้ภายในปี 2583 ซึ่งขณะนี้กำลังเร่งผลักดันให้ทั้งผู้ประกอบการและทุกๆภาคส่วนได้เห็นความสำคัญของการปรับเปลี่ยนมาใช้สาร HFC- 32 อย่างแพร่หลายมากขึ้น ตลอดจนดำเนินความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อให้เป้าหมายในการดำเนินกิจกรรมมีความครอบคลุมทุกมิติและลุล่วงไปได้อย่างรวดเร็ว
ร้อยเอกธเนศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ล่าสุดกรมโรงงานฯ ได้ดำเนินความร่วมมือกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ในการพัฒนาบุคลากรช่างเครื่องปรับอากาศให้มีความรู้ความสามารถ มีทักษะฝีมือที่มีประสิทธิภาพ และทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีด้านการทำความเย็น ด้วยการจัดฝึกอบรมการใช้งานเครื่องมือและอุปกรณ์พื้นฐานเกี่ยวกับการติดตั้งและบำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศที่ใช้สาร HFC-32 เป็นสารทำความเย็น
ซึ่งกรมโรงงานฯ จะให้การสนับสนุนอุปกรณ์สำหรับบุคลากรฝึกของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อเป็นวิทยากรในการการนำองค์ความรู้ เทคนิค และทักษะการปฏิบัติงานใหม่ๆที่ได้จากการฝึกอบรมไปขยายผลให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ แรงงาน และภาคซ่อมบำรุงในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศทั่วประเทศ โดยมุ่งหวังให้กลุ่มดังกล่าวมีความรู้ความสามารถต่อการใช้เทคโนโลยีสารทำความเย็น HFC-32 การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และสอดรับความต้องการของตลาดที่ในอนาคตจะมีการใช้เครื่องปรับอากาศในระดับที่สูงขึ้น นอกจากนี้ ความร่วมมือในครั้งนี้ยังเป็นไปตามพันธกิจของกรมโรงงานฯ ที่ได้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศของประเทศไทย ให้ปรับเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีใหม่และสาร HFC-32 ในกระบวนการผลิตที่เริ่มมาตั้งแต่ ปี 2560 ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการผลิตเครื่องปรับอากาศของไทยจำนวน 11 ราย ดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ด้านนายธวัช เบญจาทิกุล รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าววว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ถือว่ามีเป้าหมายและกลไกในการบูรณาการภารกิจร่วมกันในรูปแบบประชารัฐ ซึ่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงานพร้อมจะให้การสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรฝึกของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานหลักสูตรการฝึกยกระดับฝีมือ สาขาการติดตั้งเครื่องปรับอากาศภายในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก ระยะเวลาการฝึก 18 ชั่วโมง จำนวน 3 รุ่น ๆ ละ 20 คน รวมทั้งสิ้น 60 คน โดยมอบหมายให้สำนักพัฒนาผู้ฝึกและเทคโนโลยีการฝึกดำเนินการพัฒนาบุคลากรฝึกของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานและกรมโรงงานอุตสาหกรรมให้การสนับสนุนงบประมาณดำเนินการดังกล่าว เพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะฝีมือที่สูงขึ้น ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อนำความรู้ไปขยายผลให้แก่กำลังแรงงานให้มีทักษะฝีมือสูงขึ้นได้มาตรฐานฝีมือแรงงาน รวมทั้งส่งเสริมให้ช่างเครื่องปรับอากาศตระหนักถึง ความปลอดภัยเกี่ยวกับการซ่อมบำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศที่ใช้สาร HFC-32 รองรับต่อการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจ ในอนาคต
เมื่อเร็วๆ กรมโรงงานอุตสาหกรรม และกรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้จัดพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นี้ ณ ห้องประชุม อก 1 ชั้น 2 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม โดยผู้ประกอบการที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ กลุ่มอนุรักษ์โอโซน กองบริหารจัดการวัตถุอันตราย กรมโรงงานอุตสาหกรรม หมายเลขโทรศัพท์ 0-2202-4228