กรุงเทพฯ--13 ก.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
คุณทราบหรือไม่? ว่าประเทศไทย นับเป็นประเทศหนึ่ง ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีพิพิธภัณฑ์ และแหล่งเรียนรู้มากที่สุดติดอันดับ 1 ใน 3 รวมจำนวนกว่า 1,500 แห่ง กระจายอยู่ทั่วทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ที่รวบรวมความรู้ด้านภูมิศาสตร์ ธรรมชาติวิทยา ชาติพันธุ์ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณี ตลอดจนภูมิปัญญาพื้นบ้าน ซึ่งในแต่ละแห่ง ต่างล้วนมีรูปแบบของพิพิธภัณฑ์ และการจัดแสดงอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ตลอดจนองค์ความรู้ที่น่าสนใจแตกต่างกัน ล่าสุด สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) หรือ สพร. ได้เตรียมเปิดโฉมพิพิธภัณฑ์ และแหล่งเรียนรู้ใหม่ 4 แห่งทั่วไทย ซึ่งสถาบันได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์พัฒนาพิพิธภัณฑ์ และแหล่งเรียนรู้ดังกล่าว ให้มีความน่าสนใจ เนื้อหาเข้าใจได้ง่าย และน่ามาศึกษาเรียนรู้มากขึ้น ตลอดจนการนำเสนอที่แปลกใหม่ ตามองค์ความรู้แบบพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ หรือ "Discovery Museum Knowledge Model: DMKM"เพื่อตอบสนองการเรียนรู้ และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่กำลังเป็นที่นิยม อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นให้คนไทย หันมาสนใจเที่ยวพิพิธภัณฑ์ และแหล่งเรียนรู้กันให้มากขึ้น แล้วคุณจะรู้ว่าพิพิธภัณฑ์ และแหล่งเรียนรู้ในประเทศไทยก็น่าเที่ยว และน่าศึกษาเรียนรู้ ไม่แพ้ที่ไหนในโลกอย่างแน่นอน
ศูนย์วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมเพื่อการศึกษาร้อยเอ็ด
ใครว่าท้องฟ้าจำลองมีแค่ในกรุงเทพฯ ไม่อยากจะบอกว่าจังหวัดร้อยเอ็ดก็มีท้องฟ้าจำลองเช่นเดียวกัน โดยท้องฟ้าจำลองของศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมเพื่อการศึกษาร้อยเอ็ดนี้ ปัจจุบันนับว่าเป็นท้องฟ้าจำลองที่ทันสมัยที่สุดในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จะพาคุณไปพบกับความสนุกสนาน พร้อมท่องอยู่ในแดนอวกาศ เพื่อสัมผัสกลุ่มดาวต่างๆ บนท้องฟ้า และยังสามารถพบกับสุดยอดภาพยนตร์สารคดีทางดาราศาสตร์ ที่จะให้ทั้งความรู้ ควบคู่ไปกับความบันเทิงอีกด้วย นอกจากจะมีท้องฟ้าจำลองให้คุณได้เพลิดเพลินแล้ว ไฮไลท์สุดโดดเด่นของศูนย์ฯ แห่งนี้ที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้ ได้แก่ รูปทรงของอาคารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น อาคารนิทรรศการหลัก ได้แรงบันดาลใจมาจากประทุนเกวียน และรูปทรงหน้าบรรณของสิมอีสาน อาคารหอประชุม ออกแบบคล้ายกระติ๊บข้าวเหนียวของคนอีสาน อาคารท้องฟ้าจำลอง ดัดแปลงรูปทรงมาจากหวดนึ่งข้าวที่ผ่าก้นแล้วคว่ำลง ตลอดจน อาคารบั้งไฟทาวเวอร์ ได้แนวคิดในการออกแบบจากฐานในการจุดบั้งไฟ ทั้งหมดนี้คุณสามารถเดินเที่ยวชม นิทรรศการวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมของภาคอีสานที่ผสมผสานกันได้อย่างลงตัว ผ่านการจัดแสดงสื่อผสมของเล่น ของจริง หุ่นจำลอง ที่ทันสมัยและเร้าใจด้วย แสง สี เสียง ซึ่งผู้ชมสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ได้ นอกจากนี้ เร็วๆ นี้ ศูนย์ฯ ยังเตรียมเปิดตัวนิทรรศการใหม่ในความร่วมมือกับ สพร. ในชื่อชุด "นิทานจักรวาล" ที่จะพาคุณไปเรียนรู้เรื่องราวด้านจักรวาลแบบไทยๆ ซึ่งเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่เข้าใจได้ง่าย และสนุกมากยิ่งขึ้น เอาเป็นว่า ใครมีโอกาสได้ไปเที่ยวที่ร้อยเอ็ด และอยากศึกษาเรียนรู้เรื่องราววิทยาศาสตร์ที่ผสมผสานทั้งวัฒนธรรมและนวัตกรรมที่หลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน ต้องไม่พลาดไปเที่ยวชมสถานที่แห่งนี้
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขุนละหาร
ถือเป็นหนี่งพิพิธภัณธ์ท้องถิ่น ที่มีประวัติน่าสนใจเป็นอย่างมากของจังหวัดนราธิวาส ก่อตั้งเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 โดยนายรัศมินทร์ นิติธรรม จากแนวคิดที่ต้องการอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นให้คงอยู่ พร้อมนำเอาเอกลักษณ์หรือศิลปะดั้งเดิมทางด้านภูมิปัญญามาประยุกต์เป็นผลิตภัณฑ์ที่ร่วมสมัย สู่การเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อสร้างรายได้ สร้างอาชีพให้ชุมชนอย่างยั่งยืน โดยใช้ชื่อขุนละหาร เนื่องจากเป็นชื่อพระราชทานสมัยรัชกาลที่ 5 และเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ก่อตั้งหมู่บ้านซึ่งเป็นบรรพบุรุษของผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ โดยพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นแหล่งรวบรวมของเก่าที่เริ่มจะเลือนหายไป จากวิถีชีวิตของชาวนราธิวาส ตลอดจนความเป็นมาของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่หลายคนไม่เคยรู้ นำมาเรียงร้อยเรื่องราวเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อ วัฒนธรรมอันดีที่สืบทอดกันมายาวนาน ตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ นอกจากนี้ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังเป็นแหล่งจัดเก็บรวบรวมศิลปวัตถุหลากหลายประเภท อาทิ เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เครื่องมือประกอบอาชีพ เครื่องมือจับสัตว์น้ำศาสตราวุธ อุปกรณ์เกี่ยวกับการแสดงนาฏศิลป์ เครื่องดนตรี ที่หาดูได้ยากอีกด้วย
"พิพิธชัยพัฒนา" นิทรรศการของมูลนิธิชัยพัฒนา
แหล่งเรียนรู้ที่จะทำให้คุณเข้าใจถึงโครงการมูลนิธิชัยพัฒนาอย่างลึกซึ้ง ที่ก่อตั้งขึ้นจากพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ 9) โดยนิทรรศการแห่งนี้ คุณจะได้สัมผัสโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการพัฒนาอื่น ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวไทยในด้านเศรษฐกิจ และสังคม ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตลอดจนสามารถพึ่งพาตนเองได้ ผ่านการถ่ายทอดด้วยสื่ออินเตอร์แอคทีฟ การเล่นเกม ตลอดจนเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะทำให้คุณได้เรียนรู้ และเพลิดเพลินไปกับโครงการในพระราชดำริกว่า 4,400 โครงการ ที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลา 70 ปี ในรัชสมัย ได้อย่างสนุกสนาน และเข้าใจอย่างถ่องแท้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการสำคัญๆ ที่เราคนไทยทุกคนคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีอย่าง โครงการเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ โครงการกังหันน้ำชัยพัฒนาที่เกิดขึ้นเพื่อช่วยบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีธรรมชาติ หรือจะเป็นโครงการฝนหลวงที่มาช่วยบรรเทาสภาวะความแห้งแล้งของภาคเกษตรกรรมไทย ตลอดจน โครงการแก้มลิงเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย เป็นต้น รับรองว่านอกจากความสนุกสนานเพลิดเพลินแล้ว คุณจะได้แนวคิด และแรงบันดาลใจเต็มเปี่ยมกลับไปหลังจากเที่ยวชมนิทรรศการนี้เสร็จแล้วอย่างแน่นอน
พิพิธภัณฑ์บ้านดงโฮจิมินห์ จังหวัดพิจิตร
เมืองชาละวันแห่งนี้ไม่ได้มีแค่ตำนานของชาละวัน ตะเภาแก้ว และตะเภาทองเท่านั้น ในตำบลป่ามะคาบ อำเภอเมืองพิจิตร ยังมีอีกหนึ่งประวัติศาสตร์สำคัญที่ใครหลายคนอาจยังไม่ทราบ เมื่อปี พ.ศ.2471 พื้นที่แห่งนี้ถือเป็นพื้นที่แรกในประเทศไทย ที่ประธานโฮจิมินห์ อดีตผู้นำของประเทศเวียดนาม เดินทางเข้ามาอยู่อาศัยพบปะกับครอบครัวชาวเวียดนามผู้รักชาติ และมีการเคลื่อนไหวกิจกรรมทางการเมือง และรวบรวมชาวเวียดนามไปกอบกู้เอกราชจากฝรั่งเศสจนสำเร็จนั่นเอง โดยพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับข้อมูลชุมชนชาวเวียดนามในบ้านดง ดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ และเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเริ่มต้นกู้ชาติคืนจากฝรั่งเศส ของประธานโฮจิมินห์ โดยมีการนำเอกสาร สิ่งพิมพ์ วัตถุสิ่งของเกี่ยวกับชีวประวัติและชีวิตการทำงานของท่านมาจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตชุมชน และสร้างแรงบันดาลใจให้คนไทยมีความรักชาติ ตลอดจนเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว เชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยว ระหว่างพิพิธภัณฑ์โฮจิมินห์ในจังหวัดอุดรธานี และจังหวัดนครพนม เชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย และเวียดนาม ที่สำคัญก็คือสถานที่แห่งนี้ จะทำให้คุณได้ทราบว่าความมีน้ำใจของคนไทย มีความสำคัญต่อการกู้ชาติของเวียดนามอีกด้วย
ด้านนายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) กล่าวว่า สำหรับพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ทั้ง 4 แห่งดังกล่าว เป็นหนึ่งในพันธกิจสำคัญ ในการสร้างและพัฒนาเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ และแหล่งเรียนรู้ทั่วประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพ (Discovery Museum Network : DMN) เพื่อเป็นต้นแบบการพัฒนาองค์ความรู้พิพิธภัณฑ์ให้เทียบเท่ากับระดับสากล ซึ่ง สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) หรือ สพร. ในฐานะองค์กรการจัดการความรู้ด้านพิพิธภัณฑ์ จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาต้นแบบพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ในระดับภูมิภาค เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน โดยนำร่องให้คำปรึกษา ตลอดจนร่วมออกแบบและพัฒนา อาทิ การจัดทำนิทรรศการใหม่ให้กับพิพิธภัณฑ์ การจัดการสื่อพิพิธภัณฑ์ที่เหมาะสมกับแต่ละแห่ง การออกแบบเส้นทางการเดินชมในพิพิธภัณฑ์ การบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ และการจัดทำโปรแกรมการเรียนรู้และกิจกรรมสร้างสรรค์ ฯลฯ เพื่อยกระดับแหล่งเรียนรู้ทั้ง 4 แห่งนี้ สู่การเป็นพิพิธภัณฑ์ และแหล่งเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ในแบบพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ หรือ Discovery Museum ที่มุ่งเน้นให้ผู้เข้าชมสามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง จากการทดลองทำอย่างสนุกสนาน และเพลิดเพลิน อันจะนำมาสู่การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาสู่ชุมชน และประชาชนได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว สอดคล้องกับพันธกิจของ สพร. ซึ่งมีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ระดับภูมิภาค และท้องถิ่นของประเทศ ตามองค์ความรู้แนว Discovery Museum Knowledge Model: DMKM ทั้งในด้านการวางแผน การบริหารจัดการ การออกแบบนิทรรศการ การบริการผู้เข้าชม การตลาด การจัดโปรแกรมการเรียนรู้ การจัดการพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวก ฯลฯ ที่เป็นรูปธรรมชัดเจน เพื่อให้ "พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้" แพร่ขยายและหยั่งรากออกไปในระดับภูมิภาคและท้องถิ่น ซึ่งจะตอบสนองความต้องการแหล่งเรียนรู้ และความสนใจของผู้เข้าชมได้อย่างแท้จริง ขณะที่ สพร. ยังคงเดินหน้าพัฒนาเครือข่ายพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ทั่วประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน เพื่อการสร้างวัฒนธรรมการเที่ยวพิพิธภัณฑ์ หรือ มิวเซียมคัลเจอร์ อย่างยั่งยืนในสังคมต่อไป นายราเมศ กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้กับสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) หมายเลขโทรศัพท์ 02-225-2777 ตลอดจนติดข่าวสาร และกิจกรรมอื่นๆ ได้ที่www.museumsiam.org หรือ facebook.com/museumsiamfan