กรุงเทพฯ--13 ก.ย.--เมพขิงขิง
จังหวัดชัยนาท เดินเครื่องโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก เน้นกลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา (กลุ่ม D) ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ในพื้นที่ 6 ตำบล 6 อำเภอ
ดร.ปาริชาติ บุญญาวิวัฒน์ พัฒนาการจังหวัดชัยนาท เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างองค์ความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ กิจกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย กลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา (กลุ่ม D) จังหวัดชัยนาท เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2561 ณ ห้องโบตั๋นโรงแรมชัยนาทธานี อ.เมือง จ.ชัยนาท
"รัฐบาลมีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำของสังคม ที่มุ่งเน้นสร้างรายได้และความเจริญความเข็มแข็งทางเศรษฐกิจ โดยให้ภาคเอกชนและภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการร่วมกับภาครัฐ เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินงานโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ที่เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยมอบหมายให้กรมการพัฒนาชุมชน เป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินงานตลอด 16 ปีที่ผ่านมา เกิดการพัฒนาสินค้าชุมชนที่ใช้ภูมิปัญญา ผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานภายใต้สัญลักษณ์ OTOP ที่ผู้บริโภคให้ความเชื่อถือในคุณภาพ"
ดร.ปาริชาติ กล่าว พร้อมกับเสริมว่า โลกการค้าเปลี่ยนแปลงเพราะเทคโนโลยีการสื่อสาร ธุรกิจหนึ่งที่เติบโตอย่างรวดเร็วทั่วโลก คือ การท่องเที่ยว และเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่ไม่เหมือนเดิม นักท่องเที่ยวทุกวันนี้มีอิสระในการออกแบบเส้นทางการท่องเที่ยวด้วยตนเองโดยใช้ application ต่างๆ บนโทรศัพท์มือถือ และสามารถ เดินทาง "เข้าถึง" หมู่บ้านต่างๆ ได้ด้วยตนเอง
"โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี จึงเป็นการสร้างความพร้อมให้กับหมู่บ้านและชุมชนต่างๆ โดยเลือกพื้นที่ที่เป็น "แอ่งเล็ก" แล้วเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวแอ่งกลาง และแอ่งใหญ่ เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานราก กิจกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย กลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา (กลุ่ม D) จังหวัดชัยนาท เป็นกิจกรรมหนึ่งในการสร้างความพร้อมให้กับชุมชนเป้าหมายของจังหวัดชัยนาท จาก 24 หมู่บ้านใน 6 อำเภอ ได้แก่ อ.โนรมย์ อ.สรรคบุรี อ.เนินขาม อ.หนองมะโมง อ.วัดสิงห์ และ อ.เมือง จำนวน 34 ผลิตภัณฑ์
ประการสำคัญ โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี เป็นการยุคของการเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ตามความต้องการ โดยการขายสินค้าอยู่ในชุมชนที่มาจากการท่องเที่ยว ใช้เสน่ห์ ภูมิปัญญา วิถีชีวิต วัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์ แปลงเป็นรายได้ ครอบครัวและลูกหลานยังอยู่ร่วมกัน ไม่ต้องแข่งขันนำผลิตภัณฑ์ออกไปขายนอกชุมชน สร้างชุมชนท่องเที่ยวให้เป็นเจ้าบ้านที่ดี ชวนกันคิด ชวนกันทำ ผลิตสินค้าและบริการ เชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวระดับชุมชนที่มีเสน่ห์ดึงดูดและมีคุณค่าเพียงพอให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยือนและใช้จ่ายเงินในทุกกิจกรรมของชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึง กระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างสังคมภายในประเทศให้มีความเข้มแข็ง" ดร.ปาริชาติ กล่าวในที่สุด