กรุงเทพฯ--13 ก.ย.--สำนักงานปรมาณูเพืิ่อสันติ
สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) และ มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) 2 เครือข่ายด้านการศึกษาวิจัยของประเทศ เพื่อร่วมลงนามบันทึก ความเข้าใจ (MOU) ในความร่วมมือเพื่อพัฒนามาตรวัดรังสีทางชีวภาพของประเทศอันจะนำไปสู่การบริหารจัดการด้านมาตรวิทยารังสีทางชีวภาพของประเทศอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม
เมื่อวานนี้ (12 กันยายน 2561) เวลา 14.00 น. ดร.อัจฉรา วงศ์แสงจันทร์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ พร้อมด้วย ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจในความร่วมมือเพื่อการพัฒนามาตรวัดรังสีทางชีวภาพของประเทศ ณ ห้องประชุมใหญ่ ปส. ซึ่งถือเป็นการสร้างเครือข่ายการบูรณาการงานร่วมกัน เพื่อสนับสนุนและผลักดันให้ประเทศไทยเรามีความเข้มแข็งในด้านมาตรวัดรังสี ทางชีวภาพอย่างยั่งยืน โดยการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้มี นางรัชดา เหมปฐวี รองเลขาธิการสำนักงานปรมาณู เพื่อสันติ และดร.อนามัย ดำเนตร รักษาการรองอธิการบดี ฝ่ายกิจการพิเศษ ม.เกษตรฯ ร่วมเป็นสักขีพยาน
ในโอกาสเดียวกันนี้ ปส. ยังได้รับความร่วมมือจาก ม.มหิดล ในการเข้าร่วมเป็นเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อพัฒนามาตรวิทยารังสีทางชีวภาพของประเทศด้วยเช่นเดียวกัน โดยมี รศ.ดร.กิติกร จามรดุสิต รักษาการแทน รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ร่วมแสดงเจตนารมณ์และเป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกความเข้าใจในความร่วมมือระหว่าง ปส. กับ ม.มหิดล
ดร.อัจฉรา กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ปส. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสีของประเทศ ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านมาตรวัดรังสีทางชีวภาพของประเทศมาโดยตลอด ซึ่งการสร้างเครือข่ายความร่วมมือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือเป็น สิ่งสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ เพื่อสนับสนุนและผลักดันให้ประเทศไทยเรามีความเข้มแข็งในด้านมาตรวัดรังสี ทางชีวภาพอย่างยั่งยืน โดย ปส. รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ ม.เกษตรฯ และ ม.มหิดล ซึ่งเป็นหน่วยงานการศึกษาและวิจัยระดับประเทศให้เกียรติเป็นเครือข่ายด้านมาตรวิทยารังสีทางชีวภาพร่วมกับ ปส.ในวันนี้
ดร.อัจฉรา กล่าวต่อไปว่า พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจในความร่วมมือระหว่าง ปส. ม.เกษตรฯ และ ม.มหิดล ในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อให้เกิดความเข้าใจและความชัดเจนในการบูรณาการงานด้านการพัฒนาและบริหารจัดการด้านมาตรวัดรังสีทางชีวภาพที่เหมาะสมในการประเมินค่ารังสีของคนไทย สามารถขับเคลื่อนงาน ด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ การพัฒนาระบบเครือข่ายห้องปฏิบัติการและเทคนิคการวิเคราะห์ด้านมาตรวิทยารังสีทางชีวภาพได้อย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ยังถือเป็นการสนับสนุนให้เกิดการทำวิจัยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางวิชาการเพื่อพัฒนาบุคลากรของทุกฝ่ายอย่างทั่วถึง ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาให้การกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสีของประเทศเกิดความเข้มแข็ง มีประสิทธิภาพเป็นไปตามมาตรฐานสากล ทั้งในสถานการณ์ปกติและสถานการณ์ฉุกเฉิน