กรุงเทพฯ--13 ก.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยจากอิทธิพลมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม – 13 กันยายน 2561 ทำให้เกิดสถานการณ์ภัยใน 20 จังหวัด สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 13 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 7 จังหวัด ได้แก่ บึงกาฬ นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ นครนายก ปราจีนบุรี และเพชรบุรี ซึ่ง ปภ. ได้ร่วมกับจังหวัด หน่วยทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยครอบคลุมทุกด้าน มุ่งดูแลชีวิตความเป็นอยู่และความปลอดภัยเป็นหลัก พร้อมระดมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยสนับสนุนการแก้ไขปัญหาอุทกภัยควบคู่กับการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขัง เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า อิทธิพลมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม – 13 กันยายน 2561 ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินถล่มในพื้นที่ 20 จังหวัด ได้แก่ น่าน เชียงราย ลำปาง พะเยา เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน หนองคาย นครพนม บึงกาฬ เพชรบุรี สกลนคร ลพบุรี นครนายก ชัยภูมิ เพชรบูรณ์ พิจิตร กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี และสระบุรี รวม 108 อำเภอ 488 ตำบล 2,719 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 6,832 ครัวเรือน 203,054 คน ผู้เสียชีวิต 4 ราย สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 13 จังหวัด ได้แก่ น่าน ลำปาง พะเยา เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เพชรบูรณ์ เชียงราย พิจิตร ชัยภูมิ สระบุรี ลพบุรี หนองคาย และอุบลราชธานี ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 7 จังหวัด รวม 28 อำเภอ 134 ตำบล 1,023 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 25,294 ครัวเรือน 66,947 คน แยกเป็น ลุ่มน้ำโขง 2 จังหวัด ได้แก่ บึงกาฬ น้ำในแม่น้ำโขงล้นตลิ่งในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองบึงกาฬ อำเภอบุ่งคล้า อำเภอเซกา และอำเภอพรเจริญ รวม 28 ตำบล 240 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 5,739 ครัวเรือน 19,443 คน พื้นที่การเกษตรคาดว่าเสียหาย 41,338 ไร่ ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง นครพนม น้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอศรีสงคราม อำเภอนาหว้า อำเภอนาทม อำเภอบ้านแพง อำเภอท่าอุเทน และอำเภอ เมืองนครพนม รวม 44 ตำบล 505 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 10,019 ครัวเรือน 18,927 คน พื้นที่การเกษตรคาดว่าเสียหาย 179,704 ไร่ ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง ลุ่มน้ำอูนและลุ่มน้ำสงคราม 1 จังหวัด ได้แก่ สกลนคร น้ำท่วม ในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอคำตากล้า อำเภอนิคมน้ำอูน อำเภอพรรณานิคม อำเภออากาศอำนวย และอำเภอบ้านม่วง รวม 10 ตำบล 20 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 186 ครัวเรือน 500 คน พื้นที่การเกษตรคาดว่าเสียหาย 1,533 ไร่ ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง ลุ่มน้ำชี 1 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ น้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ อำเภอกมลาไสย และอำเภอฆ้องซัย รวม 18 ตำบล 68 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 961 ครัวเรือน 1,873 คน ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง ลุ่มน้ำปราจีนบุรี 2 จังหวัด ได้แก่ นครนายก น้ำท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนครนายก อำเภอบ้านนา อำเภอองครักษ์ และอำเภอปากพลี รวม 18 ตำบล 107 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 5,916 ครัวเรือน 17,748 คน พื้นที่การเกษตรคาดว่าเสียหาย 1,040 ไร่ ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง ปราจีนบุรี น้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองปราจีนบุรี อำเภอศรีมหาโพธิ และอำเภอบ้านสร้าง รวม 10 ตำบล 65 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,983 ครัวเรือน 6,421 คน ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง ลุ่มน้ำเพชรบุรี 1 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี น้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแก่งกระจาน อำเภอท่ายาง และอำเภอบ้านแหลม รวม 6 ตำบล 18 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 490 ครัวเรือน 2,035 คน ปัจจุบันระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีลดลง แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำการเกษตรบางพื้นที่ทั้งนี้ ปภ.ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาอุทกภัยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ พร้อมกำชับจังหวัดที่สถานการณ์คลี่คลายแล้วเร่งสำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหายให้ครอบคลุมทุกด้าน เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ส่วนจังหวัดที่ยังมีสถานการณ์อุทกภัยให้ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ประสบภัย ควบคู่กับการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ โดยเชื่อมโยงการระบายน้ำในพื้นที่รอยต่อระหว่างจังหวัดอย่างใกล้ชิด เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ท้ายนี้หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป