กรุงเทพฯ--14 ก.ย.--กสทช.
กสทช. จ่อทวงรายได้ 2 ค่ายมือถือ "ทรู-เอไอเอส" เพื่อนำส่งรัฐ กรณีที่เคยให้ใช้คลื่นความถี่ในช่วงประกาศมาตรการเยียวยาฯ ภายหลังคลื่น 1800 MHz สิ้นสุดสัญญาสัมปทาน กว่า 4,200 ล้านบาท พร้อมกันนี้เตรียมชี้ชะตาว่าจะให้ดีแทคควบใช้คลื่น 1800 MHz และ 900 MHz ตามประกาศมาตรการเยียวยาด้วยหรือไม่
ในการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ครั้งที่ 17/2561 วันพุธที่ 5 กันยายน 2561 สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอที่ประชุมพิจารณาผลการตรวจสอบเงินรายได้ของบริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (ในเครือบริษัทเอไอเอส) ที่ต้องนำส่งรัฐ จากการที่ทั้งสองบริษัทให้บริการในช่วงของการให้การเยียวยาผู้บริโภคตามประกาศมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวฯ (ประกาศมาตรการเยียวยาฯ) บนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz หลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุดตั้งแต่ 15 กันยายน 2556
ทั้งนี้ สาเหตุที่มีการประกาศใช้มาตรการเยียวยาฯ เนื่องจากว่าภายหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ในขณะนั้นผู้ให้บริการทั้งสองรายยังคงมีลูกค้าอยู่ในระบบเทคโนโลยี 2G จำนวนมาก ขณะที่ กสทช. ยังไม่สามารถจัดประมูลคลื่นความถี่เพื่อจัดสรรให้กับผู้ให้บริการรายใหม่ได้ทันก่อนที่สัญญาสัมปทานจะสิ้นสุด จึงมีการประกาศใช้มาตรการเยียวยาฯ เพื่อให้ผู้บริโภคที่ค้างอยู่ในระบบเดิมสามารถใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้อย่างต่อเนื่อง แต่มีเงื่อนไขว่าให้นำรายได้ทั้งหมดจากการใช้คลื่นหลังหักค่าใช้จ่าย นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน
สำหรับผลการตรวจสอบเงินรายได้โดยคณะทำงานที่สำนักงาน กสทช. แต่งตั้ง สรุปยอดรายได้หลักหักค่าใช้จ่ายที่บริษัททรูมูฟต้องนำส่งจากการให้บริการในช่วงตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2556 ถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2558 เป็นจำนวน 3,381.95 ล้านบาท และยอดรายได้ที่บริษัทดิจิตอลโฟนต้องนำส่งจากการให้บริการในช่วงตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2556 ถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2558 เป็นจำนวน 869.51 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 4,251.46 ล้านบาท ส่วนค่าใช้โครงข่ายที่บริษัททรูมูฟต้องจ่ายให้บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT เป็นจำนวน 1.87 ล้านบาท ขณะที่บริษัทดิจิตอลโฟนต้องจ่าย 0.42 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม แนวทางเดิมที่คณะทำงานตรวจสอบได้เคยมีข้อสรุป ระบุตัวเลขว่าบริษัททรูมูฟต้องนำส่งรายได้จำนวน 13,989.24 ล้านบาท และบริษัทดิจิตอลโฟนต้องนำส่งรายได้จำนวน 879.59 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 14,868.83 ล้านบาท ซึ่งความแตกต่างของผลการตรวจสอบรายได้ของคณะทำงานในครั้งแรกกับครั้งหลังนี้เกิดจากการปรับเปลี่ยนแนวทางการคำนวณบางรายการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของบริษัททรูมูฟที่มีการตัดรายได้ค่าบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ (Service Charge) ในหมวดรายได้อื่นๆ ออกจากการคำนวณ ซึ่งมียอดรายรับอยู่ที่ประมาณ 16,000 ล้านบาท โดยคณะทำงานมีความเห็นว่ารายได้ดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับการใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz จึงไม่นำมารวมเป็นรายได้ในช่วงเยียวยา จึงทำให้ผลการตรวจสอบรายได้ของบริษัททรูมูฟที่ต้องนำส่งรัฐลดลงกว่า 10,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ คาดว่าในการประชุม กสทช. ครั้งที่ 17/2561 วันพรุ่งนี้ (5 กันยายน 2561) สำนักงาน กสทช. จะเสนอที่ประชุมพิจารณากรณีบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ขอใช้สิทธิเข้าสู่ช่วงมาตรการเยียวยาบนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ 850 MHz เพื่อให้ลูกค้าของบริษัทสามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่องตามประกาศมาตรการเยียวยาฯ เช่นเดียวกับที่ กสทช. เคยให้บริษัทอื่นๆ เข้าสู่มาตรการเยียวยา โดยอ้างว่ายังคงมีลูกค้าเหลืออีกกว่า 400,000 รายในโครงข่ายเดิม และบริษัทจะจัดส่งรายได้ทั้งหมดจากการให้บริการหลังจากหักค่าใช้จ่ายให้แก่ กสทช. เพื่อนำส่งเป็นรายได้รัฐต่อไปตามที่กฎหมายกำหนด
อย่างไรก็ดี มีข้อน่าสังเกตว่าในกรณีคลื่นความถี่ย่านที่บริษัทดีแทคใช้งานอยู่ในปัจจุบัน มีการจัดสรรคลื่นด้วยวิธีการประมูลก่อนที่สัญญาสัมปทานจะสิ้นสุด แต่บริษัทดีแทคยังคงมีการขอใช้สิทธิเพื่อเข้าสู่มาตรการเยียวยาเช่นเดียวกับบริษัทอื่น ขณะที่หนังสือที่บริษัทดีแทคชี้แจงมายังสำนักงาน กสทช. ระบุว่ายินดีนำส่งรายได้ในช่วงมาตรการเยียวยาให้กับรัฐนั้น หากพิจารณาในกรณีของบริษัททรูมูฟและบริษัทดิจิตอลโฟนที่เคยให้บริการภายใต้ประกาศมาตรการเยียวยามาก่อนหน้านี้แล้วนั้น ก็จะพบว่าจนปัจจุบันทั้งสองบริษัทยังไม่มีการนำส่งรายได้ให้กับรัฐเลย