กรุงเทพฯ--14 ก.ย.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เป็นสถาบันทางการผลิตครูช่างที่มีความเก่าแก่และมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานแห่งหนึ่งของประเทศไทย คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2512 เดิมเป็นแผนกวิชาหนึ่ง สังกัดวิทยาลัยเทคนิคพระนครเหนือ (ไทย-เยอรมัน) ภายใต้ชื่อว่า Thai-German Technical Teacher College (TGTTC) ในปี พ.ศ. 2512 คณะได้จัดการเรียนการสอนหลักสูตรครุศาสตร์อุตสาหกรรมบัณฑิต (ค.อ.บ.) รุ่นที่ 1 ซึ่งเป็นหลักสูตรแห่งแรกในประเทศไทย และในช่วงดังกล่าวเป็นระยะเวลา 5 ปี คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม ได้รับความช่วยเหลือทางวิชาการด้านเครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์การเรียนการสอน ผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนทุนการศึกษา การฝึกอบรม และการดูงานจากรัฐบาลประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน เพื่อทำหน้าที่ผลิตครูช่างอุตสาหกรรมในระดับปริญญาตรี หลักสูตรครุศาสตร์อุตสาหกรรมบัณฑิต จำนวน 2 สาขา ได้แก่ สาขาเครื่องกล และสาขาไฟฟ้า เป็นต้นมา
ปัจจุบันคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมมีการจัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีจนถึงระดับปริญญาเอก ที่เน้นความเข้มข้นทั้งในด้านวิศวกรรมและด้านการศึกษา ในสาขาวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมโยธา คอมพิวเตอร์ศึกษา เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา บริหารเทคนิคศึกษา และครุศาสตร์เทคโนโลยี และในปี พ.ศ. 2562 คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม ที่มีประวัติศาสตร์การผลิตครูช่างเป็นแห่งแรกของประเทศไทย จะมีอายุครบรอบ 50 ปี (พ.ศ. 2512–พ.ศ. 2562) ดังนั้นคณะจะมีการจัดงาน "ครูช่าง ครบรอบ 50 ปี" และจะเชิญศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน และผู้ที่สนใจ เข้ามาเยี่ยมเยือนพร้อมเข้าร่วมงานครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปี โดยจะมีกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย อาทิ งานเปิดบ้าน (Open House) โครงการแข่งขันวิชาการ "TEACHING ACADEMY AWARD" ครั้งที่ 8, การประชุมวิชาการครุศาสตร์อุตสาหกรรมระดับชาติ ครั้งที่ 11, การประชุมวิชาการครุศาสตร์อุตสาหกรรมระดับนานาชาติ ครั้งที่ 6, งานประชุมวิชาการ 22nd International Conference on Interactive Collaborative Learning (ICL 2019) ที่จัดร่วมกับงานประชุมวิชาการ 48th IGIP International Conference on Engineering Pedagogy เป็นต้น
รศ.ดร.ไพโรจน์ สถิรยากร คณบดีคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เปิดเผยว่า คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม เตรียมความพร้อมจัดงาน "ครูช่างครบรอบ 50 ปี" เป็นครั้งยิ่งใหญ่แห่งปี พร้อมเปิดบ้านแสดงความก้าวหน้าด้านครุศาสตร์อุตสาหกรรม ซึ่งขณะนี้ได้มีการเตรียมความพร้อมโดยการประชุมร่วมกันกับทางสมาคมศิษย์เก่าครุศาสตร์อุตสาหกรรม เพื่อดำเนินการจัดทำหนังสืออนุสรณ์ "ครบรอบ 50 ปี ครุศาสตร์อุตสาหกรรม มจพ." ที่ได้รวบรวมประวัติของครูช่างที่เป็นผู้บริหารในแต่ละยุค ผลงานด้านนวัตกรรมการเรียนการสอนที่เป็นเอกลักษณ์ของครูช่าง การบูรณาการองค์ความรู้การถ่ายทอดมาสู่ศิษย์รุ่นหลัง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เราเป็นต้นแบบแห่งการผลิตครูช่างและนักการศึกษาชั้นสูงด้านอาชีวะและเทคนิคศึกษา อันเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ กอปรกับแนวนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตครูช่างได้อย่างมีมาตรฐานเพื่อพัฒนากำลังคนด้านอาชีวะที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ สิ่งเหล่านี้จะสะท้อนให้นักศึกษาปัจจุบันสามารถมองภาพและเข้าใจคำว่า "ครูช่าง" มากขึ้น เพราะ
ครูช่างคือผู้ที่ทำหน้าที่สอน ถ่ายทอด อบรมให้ทั้งความรู้ ทักษะ และเจตคติให้แก่ผู้เรียน การฝึกสอนครูช่างจึงเป็นการสร้างคนให้มีจิตสำนึกในความเป็นครู มีความรอบรู้ทางด้านเทคนิคและวิธีการสอน มีความรู้ความสามารถทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติงานในเชิงลึก มีความชำนาญการและความเชี่ยวชาญในสายอาชีพอุตสาหกรรม เราเป็นหน่วยงานที่ผลิตครูช่างมาอย่างยาวนาน คุณภาพของลูกศิษย์เราไม่เป็นรองใคร
ในประเทศ ซึ่งปัจจุบันสถาบันอาชีวศึกษาของประเทศจะมีลูกศิษย์ หรือศิษย์เก่าเข้าไปเป็นผู้บริหารองค์กรแทบทั้งสิ้น
นอกจากนี้คณะมีโครงการการพัฒนาครูฝึกช่างเทคนิคขั้นสูงตามแนวทางมาตรฐานเยอรมัน (Thai–German Highly Skilled Technical Trainer) ที่มหาวิทยาลัยได้จัดทำขึ้นเพื่อสนองต่อนโยบายของรัฐบาล และของคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐ ได้สานพลังประชารัฐ ร่วมมือกับภาคเอกชน ที่เป็นบริษัทชั้นนำในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวม 17 แห่ง ที่มีความมุ่งมั่นอันแรงกล้า ที่จะพัฒนาสถานประกอบการให้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้และการศึกษา เพื่อให้เกิดการพัฒนากำลังคนสายอาชีพอย่างมีประสิทธิภาพ มีสมรรถนะเป็นไปตามความต้องการของสถานประกอบการและกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ และการพัฒนาครูฝึกช่างเทคนิคขั้นสูงในสถานประกอบการนั้น เป็นการพัฒนาครูช่างในโรงเรียนที่อยู่ในโรงงาน เพราะการปฏิรูปการศึกษานั้นควรมีหลักแนวคิดที่สำคัญคือ "คุณภาพครูช่าง สะท้อนคุณภาพศิษย์ และสะท้อนคุณภาพอุตสาหกรรมของประเทศ"
รศ.ดร.สมศักดิ์ อรรคทิมากูล รองคณบดีฝ่ายบริหาร ได้กล่าวว่า คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มจพ. เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ "ผลิตครูของครู" ในสายครูช่าง สายอาจารย์วิศวกรรมศาสตร์ อันเป็นพันธกิจที่สำคัญของคณะ โดยครูช่างจะทำหน้าที่ถ่ายทอดและสร้างบัณฑิตนักปฏิบัติที่มีความพร้อมที่จะทำงานในสถานประกอบการได้ทันที ที่นี่ "เราให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนในภาคทฤษฎีควบคู่กับการปฎิบัติ มีการผสมผสานการถ่ายทอดที่มีประสิทธิภาพ" ที่ผ่านมาคณะได้ให้ความสำคัญอย่างมากต่อการจัดหาอุปกรณ์ เครื่องจักรอุตสาหกรรม และห้องปฏิบัติการ เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติ และมีระบบ e-learning สำหรับการฝึกฝนด้านวิชาการ ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างครูช่างและบุคลากรทางการศึกษาให้รู้ทฤษฎี เก่งปฏิบัติ และมีความคิดสร้างสรรค์ ดังนั้น นักศึกษาที่จบการศึกษาจากคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มจพ. จะมีทางเลือกในการประกอบอาชีพที่หลากหลาย ไม่ว่าจะทำงานในสถานการศึกษาทั้งในระดับอาชีวศึกษาหรืออุดมศึกษาเพื่อก้าวไปเป็นพ่อพิมพ์หรือแม่พิมพ์ของชาติในสายวิชาชีพ และสามารถทำงานและเติบโตในสถานประกอบการทางภาคอุตสาหกรรมได้
สำหรับการบริการวิชาการหรือการสร้างเครือข่าย ทางคณะมีการมุ่งเน้นในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และสถาบันการศึกษาและหน่วยงานในภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อประสานความร่วมมือในการผลิตกำลังคนทางด้านครูช่าง ให้มีความรู้ ความสามารถในด้านการเรียนการสอน การพัฒนากระบวนการเรียนรู้ที่แท้จริงตามแนวทางการสอนแบบเยอรมัน ทั้งนี้บัณฑิตและบัณฑิตศึกษาที่สำเร็จการศึกษาทางด้านครุศาสตร์อุตสาหกรรม จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาการศึกษาและเศรษฐกิจของประเทศ ที่สามารถทำวิจัย พัฒนาองค์ความรู้เพื่อประยุกต์ใช้ในด้านอาชีวะและเทคนิคศึกษาและภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้คณะมีการให้บริการวิชาการในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การพัฒนากำลังคนด้านครูฝึกในสถานประกอบการ การฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ งานทดสอบ การทำงานวิจัย เป็นต้น เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายและให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของคณะที่กล่าวว่า "บัณฑิตที่คิดเป็น ทำเป็น ถ่ายทอดเป็น" และตามเอกลักษณ์ที่กล่าวว่า "ต้นแบบแห่งการผลิตครูช่าง สร้างสรรค์นวัตกรรม"
รศ.ดร.บัณฑิต สุขสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายพัฒนาระบบบริหารคุณภาพและวิจัย กล่าวเสริมว่า ทางคณะมีโครงการบูรณาการการเรียนกับการทำงาน (Work-integrated Learning : WiL) เป็นการลงนามความร่วมมือระหว่าง มจพ. กับบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) และร่วมมือกับ Florida International Universiteit (FIU) เพื่อพัฒนาหลักสูตรของ มจพ. แบบแผน 4+1 ปี โดยจะศึกษาในหลักสูตร ค.อ.บ. สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า เป็นเวลา 4 ปี และไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโท Master of Engineering (Electrical Engineering) เป็นเวลา 1 ปี ที่มหาวิทยาลัย Florida International Universiteit (FIU)
นอกจากนี้คณะมีการพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการศึกษาที่สอดคล้องกับนวัตกรรมยุค 4.0 เพื่อสู่ความเป็นเลิศผ่านโครงงานของนักศึกษาที่สามารถนำไปใช้งานได้จริง ตลอดจนมีการลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับต่างประเทศ อาทิ การลงนามความร่วมมือ ณ ประเทศไต้หวัน การจัดหลักสูตรภาคพิเศษให้กับบุคลากรด้านอาชีวศึกษากับ สปป.ลาว ที่มีความร่วมมือกับหน่วยงาน GIZ Laos การลงนามความร่วมมือกับกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการของ สปป.ลาว การจัดการศึกษาให้กับคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีทวาย ประเทศเมียนมาร์ ภายใต้การสนับสนุนทุนการศึกษาจากกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) ซึ่งนับเป็นโครงการที่มีประโยชน์และบางโครงการได้ดำเนินการจนประสบความสำเร็จแล้ว
สำหรับการจัดงานที่ใหญ่แห่งปี "ครูช่าง ครบรอบ 50 ปี" ขณะนี้ทางคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม ได้เตรียมความพร้อมและประชาสัมพันธ์กิจกรรมทางด้านวิชาการที่สำคัญ ดังนี้
โครงการแข่งขันวิชาการ "TEACHING ACADEMY AWARD" ครั้งที่ 8 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29-30 มกราคม และ 1 กุมภาพันธ์ 2562 ณ คณะครุศาสตร์อตุสาหกรรม มจพ. เป็นเวทีในการแข่งขันประเภทการสอนกลุ่มสาขาช่างอุตสาหกรรม เป็นการแข่งขันสื่อการสอนประเภทฮาร์ดแวร์ (Hardware) และซอฟต์แวร์ (Software) เน้นครูช่างอุตสาหกรรม ให้มีสมรรถนะในด้านคิดเป็น ทำเป็น ถ่ายทอดเป็น ทั้งนี้ได้จัดแบ่งประเภทการแข่งขันดังนี้
1) การแข่งขันประเภทการสอน ได้แก่ กลุ่มอุตสาหการ/การผลิต/การเชื่อม กลุ่มสาขาเครื่องกล/แมคคาทรอนิกส์ กลุ่มสาขาวิชาไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์/โทรคมนาคม กลุ่มสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ และกลุ่มสาขาวิชาโยธา/สถาปัตยกรรม/การออกแบบ/เกษตร
2) การแข่งขันสื่อการสอน ประเภท Hardware
3) การแข่งขันสื่อการสอน ประเภท Software
4) การประกวดศิลปวัฒนธรรมไทย
2. การประชุมวิชาการครุศาสตร์อุตสาหกรรมระดับชาติ ครั้งที่ 11 และระดับนานาชาติ ครั้งที่ 6 ในหัวข้อ "Technopreneur for Sustainable Growth and Development" จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-20 มีนาคม 2562 เป็นการประชุมวิชาการครุศาสตร์อุตสาหกรรม อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยทางด้านครุศาสตร์อุตสาหกรรมในสาขาวิชาต่างๆ รวมถึงการแลกเปลี่ยน ระดมความคิดเห็นและประสบการณ์ อันนำไปสู่แนวทางการวิจัยเพื่อพัฒนาการจัดการศึกษา เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ ตลอดจนการสร้างเครือข่ายความรู้ด้านครุศาสตร์อุตสาหกรรมให้แก่คณาจารย์ นักการศึกษา นักวิชาการ นักวิจัย และผู้สนใจทั่วไป ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
3. การประชุมวิชาการนานาชาติ 22nd International Conference on Interactive Collaborative Learning (ICL 2019) ร่วมกับ 48th IGIP International Conference on Engineering Pedagogy ในหัวข้อ "The Impact of the 4th Industrial Revolution on Engineering Education" ระหว่างวันที่ 25-28 กันยายน 2562 เป็นการจัดประชุมวิชาการด้านการเรียนการสอนครั้งแรกในประเทศ ที่รวบรวมวิทยาการสาขาต่าง ๆ มีความก้าวหน้ามากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านครุศาสตร์อุตสาหกรรม ที่เน้นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์อย่างเป็นระบบ
เนื่องในวาระโอกาส "ครูช่าง ครบรอบ 50 ปี" (พ.ศ. 2512 – พ.ศ. 2562) คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มจพ. จึงขอเชิญชวนเข้าร่วมงานเพื่อรำลึกถึงครูช่าง ที่มีคุณค่าและมีจิตวิญญาณของความเป็นครูช่าง เป็นโอกาสได้ระลึกถึงบุคคลสำคัญที่ถือเป็นผู้ปลุกปั้นศิษย์ให้พรั่งพร้อมไปด้วยความรู้ด้านวิชาการและประสบการณ์ รวมถึงเป็นผู้ประสิทธิประสาทสรรพศิลปะวิทยาการต่าง ๆ ให้กับศิษย์มาอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้
สอบถามรายละเอียดได้ที่ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) โทรศัพท์ 0-2555-2000 ต่อ 3301, 3302 หรือเว็บไซต์ http://www.fte.kmutnb.ac.th/