กรุงเทพฯ--14 ก.ย.--กรมทรัพย์สินทางปัญญา
กรมทรัพย์สินทางปัญญาจัดสัมมนาเรื่อง การวิเคราะห์แนวโน้มเทคโนโลยีหุ่นยนต์เพื่อสังคมผู้สูงอายุ "Tech-Insight #2 : Robotics for Aging Society" เมื่อวันศุกร์ที่ 14 กันยายน 2561 ที่ผ่านมาประสบความสำเร็จ มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมแสดงความเห็นอย่างล้นหลามกว่า
170 คน ทั้งจากผู้ประกอบการในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการแพทย์ ผู้ประกอบการเทคโนโลยีอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ บุคลากรจากหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานวิจัย และผู้สนใจทั่วไป
รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา (นางสาวนุสรา กาญจนกูล) กล่าวว่า ในปัจจุบันมีสิทธิบัตรที่ประกาศโฆษณาหรือเผยแพร่อยู่มากกว่า 100 ล้านฉบับ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เข้าถึงได้แบบไม่มีค่าใช้จ่าย โดยข้อมูลที่เปิดเผยบนสิทธิบัตรในหลายส่วนนั้นเป็นข้อมูลเชิงเทคนิคที่สำคัญ เมื่อนำมาวิเคราะห์ทำให้สามารถมองเห็นทิศทางด้านนโยบายในกลุ่มเทคโนโลยีหรือผู้เล่นที่เราสนใจ ช่วยในการตัดสินใจเพื่อเริ่มต้นโครงการวิจัย วางแผนการวิจัยเชิงกลยุทธ์ วางแผนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและช่วยประเมินสถานการณ์ของเทคโนโลยีหรือคู่แข่งที่เราให้ความสนใจได้
การสัมมนาครั้งนี้เพื่อนำเสนอข้อมูลการวิเคราะห์แนวโน้มเทคโนโลยีหุ่นยนต์เพื่อสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งรวมกับภาพรวมของสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain) ของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อสังคมผู้สูงอายุ จุดแข็ง จุดอ่อน และโอกาสของเทคโนโลยี แนวโน้มความน่าสนใจของเทคโนโลยีในระดับมหภาค รวมถึงนำเสนอข้อมูลประสบการณ์ในการวิจัยพัฒนาและการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุ หุ่นยนต์ทางการแพทย์เพื่อดูแลผู้สูงอายุ ปัญหา อุปสรรค เพื่อให้ผู้เข้าร่วมการสัมมนานำข้อมูลและองค์ความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ให้เข้ากับธุรกิจหรืองานวิจัย ตลอดจนนำไปใช้ต่อยอด และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองกับการดูแลผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอุปกรณ์/เครื่องมือ/หุ่นยนต์ทางการแพทย์เพื่อดูแลผู้สูงอายุได้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งาน และผู้สูงอายุที่ต้องดูแล
การวางแผนเพื่อการวิจัยพัฒนาให้ถูกทิศถูกทางโดยอาศัยข้อมูลเชิงประจักษ์ (evidence based) เพื่อให้ได้ผลงานนวัตกรรมที่ตรงตามความต้องการของตลาด เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำเป็นขั้นแรก กรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงได้จัดตั้งศูนย์ IP IDE เพื่อให้คำปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรมอย่างครบวงจร โดยเฉพาะมีการวิเคราะห์แนวโน้มเทคโนโลยีจากฐานข้อมูลสิทธิบัตรทั่วโลก สามารถตอบโจทย์ความต้องการของทั้งผู้ประกอบการ และนักวิจัย สร้างความเข้มแข็งให้งานวิจัยของประเทศ จึงขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม และนักวิจัย ได้เข้ามาใช้บริการของศูนย์ IP IDE ซึ่งตั้งอยู่ที่ ชั้น 4 กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ โทรศัพท์ 02 -547-5026 หรือสายด่วน 1368