กรุงเทพฯ--14 ก.ย.--กระทรวงวิทยาศาสตร์
"เชียงใหม่สร้างสรรค์" (Creative Chiang Mai : CCM) รวมพลังจิตอาสากลุ่มเครือข่ายหลากหลายภาคส่วน ดึงทักษะฝีมือล้านนาร่วมสมัยผสานพลังความคิดสร้างสรรค์โชว์ผลงานสินค้าและบริการเด่น หนุนนำด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ตามแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ผ่านกิจกรรมการประกวดรางวัล การออกแบบเชียงใหม่ 2561 (Chiang Mai Design Awards 2018) ต่อเนื่องปีที่ 7 พร้อมผสานเครือข่ายความร่วมมือเมืองสร้างสรรค์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (The Southeast Asian Creative Cities Network: SEACCN) ยกระดับสู่เมืองแห่งความสร้างสรรค์ (Creative City)
ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) กล่าวในฐานะหน่วยงานขับเคลื่อนสำนักเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเชียงใหม่สร้างสรรค์ว่า รางวัลการออกแบบเชียงใหม่ 2561 (Chiang Mai Design Awards 2018) เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้สำหรับคนทุกเพศทุกวัยได้แสดงความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ปล่อยพลังได้อย่างเต็มที่ด้วยการมอบรางวัลแก่ผลงานการออกแบบและงานศิลป์ใน 7 สาขา ได้แก่ การออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product Design) การออกแบบร้านค้าและการจัดแสดงสินค้า (Retail Design and Product Display) การออกแบบสื่อสมัยใหม่ (New Media) การออกแบบอัตลักษณ์ขององค์กรและการสร้างตราสินค้า (Corporate Identity and Branding) การออกแบบสถาปัตยกรรมและการตกแต่งภายใน (Architecture and Interior Design) การออกแบบบรรจุภัณฑ์ (Packaging) และการออกแบบสิ่งที่อยู่ในสาธารณะ (Public Space) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 โดยปีนี้มีกำหนดการประกาศรับรางวัลในช่วงเดือนธันวาคมนี้ กิจกรรมดังกล่าวส่งผลให้เกิดการสร้างงาน สร้างโอกาส และดึงดูดการลงทุนด้วยการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ตามหลักเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) โดยเป็นแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ (Knowledge) การศึกษา (Education) การสร้างสรรค์งาน (Creativity) และการใช้ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property) ที่เชื่อมโยงกับรากฐานทางวัฒนธรรม การสั่งสมความรู้ทางสังคม และเทคโนโลยีนวัตกรรมสมัยใหม่ เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการกระจายรายได้และยกระดับเศรษฐกิจตามนโยบาย Thailand 4.0
ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ กล่าวเพิ่มเติมว่า เชียงใหม่สร้างสรรค์ (CCM) ยังได้สนับสนุนการยกระดับเมืองสร้างสรรค์ให้แก่จังหวัดเชียงใหม่ด้วยการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับเมืองต่างๆ ในแถบประเทศใกล้เคียงจนเป็นที่มาของเครือข่าย ความร่วมมือเมืองสร้างสรรค์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (The Southeast Asian Creative Cities Network: SEACCN) ผ่านการประชุมหารือแนวทางการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์โดยแบ่งปันประสบการณ์และความรู้ระหว่างกัน เพื่อให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้และพัฒนาเมืองของตนเองผ่านความร่วมมือจากตัวแทนเมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย, เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย, เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ และจังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย โดยพัฒนามุ่งผลักดันให้แต่ละเมืองซึ่งถือเป็น เมืองรองของประเทศให้มีความสำคัญและสร้างจุดแข็งในการเป็นเมืองแห่งความสร้างสรรค์ (Creative City)
เชียงใหม่สร้างสรรค์ (CCM) ดำเนินการภายใต้การขับเคลื่อนโดยอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) ในฐานะสำนักเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเชียงใหม่สร้างสรรค์ โดยได้รับการสนับสนุนตลอดการดำเนินงานด้วยนโยบายของสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากศูนย์บริหารงานวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยเปิดกว้างทางความคิดจากเครือข่ายอาสาสมัครในทุกภาคส่วนเพื่อเป็นแหล่งรวมแนวคิดอย่างสร้างสรรค์ มุ่งเน้นการพัฒนาเมือง สังคม และเศรษฐกิจของเชียงใหม่อย่างยั่งยืน พร้อมพัฒนากลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ กลุ่มธุรกิจเนื้อหาดิจิทัล (Digital Content Cluster) และให้ความสำคัญกับวัฒนธรรม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่ผนวกแนวคิดและหลักการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ในการสรรสร้างผลงาน โดยมีการทำงานแบบร่วมแรงร่วมใจจิตอาสาซึ่งเปรียบเป็นรากฐานที่มั่นคงแข็งแรง ผนวกกับการทำงานที่มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สู่การต่อยอดเชิงพาณิชย์ ทำให้การทำงานของกลุ่มเชียงใหม่สร้างสรรค์และอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) เป็นเหมือนเส้นเลือดที่คอยหล่อเลี้ยงเมืองแห่งวัฒนธรรมนี้ให้มีความโดดเด่นเข้าถึงกลุ่มคนได้ทุกยุคสมัยได้อย่างลงตัว ซึ่งหมายรวมได้ว่า เชียงใหม่สร้างสรรค์ (CCM) นับเป็นกลไกการบูรณาการอย่างครบวงจรตลอด ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ตั้งแต่พัฒนากระบวนการความคิดสร้างสรรค์ไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์และบริการด้วยการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมตามแนวเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ตลอดจนมุ่งพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ให้เป็นเมืองแห่งความสร้างสรรค์ (Creative City) อย่างแท้จริงและสามารถก้าวไปสู่การเป็นเมืองต้นแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในระดับนานาชาติต่อไป