กรุงเทพฯ--14 ก.ย.--ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาตร์ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เปิดงานอย่างยิ่งใหญ่ต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 ของงานไทยแลนด์ แล็บ อินเตอร์เนชั่นแนล 2018 งานแสดงสินค้าและงานประชุมนานาชาติ ด้านเครื่องมือ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสาตร์และการแพทย์ ระหว่างวันที่ 12-14 กันยายน 2561 ณ ฮอลล์ 102 – 103 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ จัดโดยบริษัท วีเอ็นยู เอ็กซิบิชั่นส์ เอเชีย แปซิฟิค จำกัด ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสาตร์และเทคโนโลยี, องค์กรภาครัฐและภาคเอกชน พร้อมนำเสนอเทคโนโลยี เครื่องมือ และอุปกรณ์ที่จำเป็นในห้องปฏิบัติการรุ่นใหม่ล่าสุดจากผู้ประกอบการชั้นนำจาก 20 ประเทศทั่วโลกมานำเสนอเทคโนโลยีภายในงาน เพื่อต่อยอดและส่งเสริมให้งานวิจัยใหม่ๆ มีมาตรฐานทัดเทียมกับนานาชาติ เกิดการกระตุ้นการลงทุนในการนำเทคโนโลยีขั้นสูงไปใช้ในอุตสาหกรรม ตลอดจนผลักดันอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพและชีววิทยาศาสาตร์ให้เติบโตยิ่งขึ้น โดยคาดการณ์ว่า ภายในงานครั้งนี้จะรวมผู้เชี่ยวชาญ นักลงทุน จากหลากหลายอุตสาหกรรมกว่า 10,000 คนร่วมชมงานกันอย่างคับคั่ง
จากปัจจัยสนับสนุนหลายประการ ทั้งการตื่นตัวของการพัฒนาด้านการควบคุมคุณภาพ อัตราการเติบโตในสายชีววิทยาและวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิตในภูมิภาคเอเชีย ตลอดจนนโยบายของภาครัฐบาลไทยที่มีทิศทางหันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนางานวิจัยเพิ่มมากขึ้นคิดเป็น 1% ของ GDP รวมของประเทศ จึงทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่ศูนย์กลางของการลงทุนในห้องปฏิบัติการที่มีการแข่งขันสูงมากที่สุดประเทศหนึ่งของอาเซียน และเกิดการกระตุ้นความต้องการของตลาดด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์อย่างน่าจับตามอง
นายอนุชา พันธุ์พิเชฐ ผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า "งานไทยแลนด์ แล็บ อินเตอร์เนชั่นแนล 2018 เป็นงานที่ถูกจัดขึ้นโดยมุ่งเน้นที่คุณภาพการจัดงานที่มีมาตรฐานระดับนานาชาติ ผู้จัดฯ ให้ความสำคัญกับจำนวนผู้ประกอบการชั้นนำที่มาร่วมจัดแสดงงาน กลุ่มผู้ซื้อรายสำคัญ ตลอดจนนักลงทุนและผู้เชี่ยวชาญจากหลายอุตสาหกรรมที่ถูกเชิญให้มาชมงานครั้งนี้เพื่อยืนยันถึงคุณภาพของผู้เข้าชมงานที่มีมาตรฐานอย่างแท้จริง สำหรับปีที่ 8 มีการเปิดตัวโซนธุรกิจใหม่ เรียกว่า "MED LAB Asia" เป็นครั้งแรก โซนนี้จะเน้นที่เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์และโรงพยาบาล อีกทั้งยังมี "LAB Highlight zone" หรือเรียกว่าโซนที่รวมสุดยอดเทคโนโลยี เครื่องมือ อุปกรณ์ใหม่ล่าสุดจากบริษัทชั้นนำที่มาเปิดตัวผลิตภัณฑ์ครั้งแรกในเอเชีย นอกจากนั้นยังมี โครงการ Hosted Buyer ซึ่งเป็นโครงการพิเศษที่เชิญผู้ซื้อระดับภูมิภาคมาเยี่ยมชมงานเพื่อกระตุ้นการค้าระหว่างประเทศ เราเชื่อมั่นว่า การจัดงานในครั้งนี้จะเป็นเวทีเจรจาการค้าด้านเทคโนโลยีห้องปฏิบัติการที่ทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียนจับตามอง ด้วยจำนวนผู้ประกอบการมากกว่า 250 บริษัทชั้นนำ มากกว่า 1,200 แบรนด์ จาก 20 ประเทศ เข้าร่วมแสดงงาน พร้อมคาดการณ์ว่าจะได้ต้อนรับผู้เข้าชมงานมากกว่า 10,000 คนจาก 40 ประเทศเข้าร่วมงานเช่นปีที่ผ่านมา"
อีกไฮไลท์สำคัญของงานไทยแลนด์ แล็บ อินเตอร์เนชั่นแนล 2018 คือโซน Life Science & Bio Investment Asia ซึ่งเป็นโซนที่นำเสนอเทคโนโลยีชีวภาพ และการลงทุนด้านไบโอเทคโนโลยี โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องสำอางค์ ยา วัคซีน การวิเคราะห์เซลล์และยีน, การตรวจดีเอ็นเอ และเทคนิคชีววิทยาที่นำไปประยุกต์ใช้ในการตรวจสอบอาหาร ยา พลังงาน และสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากโซนจัดแสดงเทคโนโลยี ก็ยังมีงานประชุมและสัมมนาวิชาการที่เกี่ยวกับด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ เทคโนโลยีชีวภาพ พันธุศาสาตร์ ไวรัสวิทยา และความปลอดภัยของการใช้ห้องปฏิบัติการอีกหลายงานประชุมให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วม โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อดึงดูดนักลงทุน ผู้เชี่ยวชาญ นักธุรกิจจากประเทศในภูมิภาคมาลงทุนผ่านงานเพื่อเป็นการขยายตลาดการค้าด้านวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิตและเทคโนโลยีชีวภาคต่อไปในอนาคต
ภายในพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการได้รับเกียรติจาก คุณอุมาพร สุขม่วง อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ ซึ่งเป็นตัวแทนของกระทรวงวิทยาศาสาตร์และเทคโนโลยี ประเทศไทย ร่วมเป็นประธานเปิดงาน ท่านอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่า "กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ตอบรับนโยบายของรัฐบาลทุกสมัย ในการสนับสนุนงานวิจัยซึ่งเป็นตัวชี้วัดศักยภาพความสามารถในการแข่งขันของประเทศทางหนึ่ง ซึ่งโดยทั่วไปตัวชี้วัดที่สำคัญก็คือ จำนวนเงินที่ประเทศนั้นๆ นำไปใช้ในการวิจัย เมื่อเทียบกับมูลค่าจีดีพีของประเทศ ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง อเมริกา ยุโรป หรือ ญี่ปุ่น ส่วนใหญ่ค่าใช้จ่ายในการวิจัยจะเกินกว่าร้อยละ 3 ของจีดีพี ในขณะที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนามักจะต่ำกว่าร้อยละ 1 หรือไม่ถึง 0.5 สำหรับประเทศไทยเรา ซึ่งขณะนี้ได้รับการสนับสนุนด้านการวิจัยอย่างมากมีการลงทุนอยู่ประมาณร้อยละ 0.78 เท่านั้น"
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวเพิ่มเติมว่า "มาตรการการส่งเสริมด้านการวิจัยและพัฒนาของรัฐบาลนั้น มีหลายแนวทาง ที่น่าสนใจมาก คือการลดหย่อยภาษีนิติบุคคล ร้อยละ 300 ของวงเงินที่มีการใช้จ่ายเพื่อการวิจัยพัฒนา รวมถึงการปรับลดภาษีนำเข้าเครื่องมือวิทยาศาสตร์ และด้านเทคโนโลยี เป็นการกระตุ้นให้ประเทศไทยผลิตผลงานวิจัยและพัฒนา และสินค้าใหม่ได้ทัดเทียมนานาประเทศ ตลอดจนการสร้างมาตรฐานของสินค้าให้ได้มาตรฐานสากล สิ่งต่างๆ ดังกล่าวนำไปสู่การใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ และอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัย เพื่อให้ห้องปฏิบัติการสามารถทดสอบสินค้าได้ตามวัตถุประสงค์ นอกจากนี้การพัฒนาบุคลากรทางห้องปฏิบัติการต้องดำเนินการควบคู่กันไป จะทำให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางของห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งงานไทยแลนด์ แล็บ อินเตอร์เนชั่นแนล 2018 ถือเป็นงานที่สำคัญของประเทศ ที่มุ่งมั่น พัฒนา ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี โดยเป็นการร่วมมือของภาครัฐ และภาคเอกชน รวมถึงพันธมิตรจากต่างประเทศ ที่มีเป้าหมายร่วมกัน ซึ่งถือเป็นการตอบโจทย์ทั้งกลุ่มนักธุรกิจที่ต้องการเพิ่มการลงทุนในประเทศไทยและอาเซียน รวมไปถึงภาครัฐและองค์กรต่างๆ ที่ต้องการเผยแพร่เนื้อหา แลกเปลี่ยนความรู้จากงานวิจัยต่างๆ เพื่อนำไปต่อยอดกลับมาพัฒนาประเทศต่อไป"
ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กล่าวว่า "ทีเซลส์ เป็นหน่วยงานหลักที่สร้างธุรกิจและอุตสาหกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์ให้เติบโตเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศ นำประเทศไทยสู่ระดับแนวหน้าของภูมิภาค และได้เข้าร่วมจัดงานไทยแลนด์แลบ มาตั้งแต่ปี 2014 ในการริเริ่ม ผลักดันธุรกิจด้านเทคโนโลยีชีวภาพในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิค ภายใต้งาน "Life Sciences & Bio Investment Asia" เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกิจในการทำให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางระดับโลก ในนวัตกรรมและการลงทุนด้านชีววิทยาศาสตร์"
"ด้วยความร่วมมือของทีเซลส์และผู้จัดงานไทยแลนด์ แล็บ อินเตอร์เนชั่นแนล ทำให้ Life Sciences & Bio Investment Asia ในปีนี้ พัฒนาขึ้นอย่างเด่นชัด ไม่ว่าจะเป็นด้านวิชาการ หรือ ความร่วมมือจากผู้นำในอุตสาหกรรม จากโครงการ "Bio Pitch & Partner" เพื่อโปรโมทนวัตกรรม ด้านชีววิทยาศาสตร์และสร้างโอกาสให้บริษัท startup ได้พบกับนักลงทุนและผู้ซื้อเพื่อต่อยอดผลงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงการจัด "Bio-Pharma Consortium" เพื่อหารือเรื่องสำคัญต่างๆ ในด้านอุตสาหกรรมชีวเภสัชภัณฑ์"ดร.นเรศ กล่าว
ดร.นเรศ กล่าวเพิ่มเติมว่า "นอกจากนี้ ทีเซลส์ยังสอดรับนโยบายยุคไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลซึ่งเน้น "Healthcare & Wellness" โดยจะเป็นหนึ่งในองค์การสำคัญที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยและประชาสัมพันธ์ให้ประเทศไทยกลายเป็น "MEDICOPOLIS" หรือ โครงการเวชนคร จัดตั้งเขตพื้นที่พัฒนานวัตกรรมบริการสุขภาพแนวใหม่ของประเทศไทยเพื่อเป็นเขตให้บริการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพแก่ประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ และเพื่อบูรณาการการวิจัยและพัฒนายา เวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ที่เหมาะสมกับกลุ่มผู้ใช้บริการ และเป็นโครงสร้างหลักในการพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพของอาเซียน ซึ่งสามารถสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับประเทศ"
งานไทยแลนด์ แล็บ อินเตอร์เนชั่นแนล จึงเป็นงานแสดงสินค้าระดับแนวหน้าของเอเชีย ที่ครบครันไปด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และเครื่องมือสำหรับห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสาตร์ ตลอดจนภาคธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งมีการร่วมมือกับทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศพัฒนางานร่วมกัน และนำมาสู่การจัดงานประชุมและสัมมนาวิชาการนานาชาติ ครอบคลุมในหัวข้อ การปรับปรุงและพัฒนามาตรฐานงานวิจัย, การวิเคราะห์และตรวจสอบ, การทดสอบในห้องปฏิบัติการ และการประชุมทางเทคนิคอื่นๆ โดยมีพันธมิตรร่วมจัดการประชุมหลายหน่วยงาน ประกอบด้วย กรมวิทยาศาสาตร์บริการ, กระทรวงวิทยาศาสาตร์และเทคโนโลยี, กระทรวงสาธารณสุข, กรมปศุสัตว์, ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสาตร์ (องค์การมหาชน), สมาคมการค้าวิทยาศาสาตร์และเทคโนโลยี, กรมวิทยาศาสาตร์การแพทย์ และ สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นพันธมิตรหลักของการสนับสนุน Bio Investment Asia ซึ่งพร้อมต้อนรับนักลงทุนและผู้เชี่ยวชาญจาก 20 ประเทศมาแลกเปลี่ยนความรู้ การวิจัยใหม่ๆ ตลอดจนมุมมองการต่อยอดธุรกิจผ่านงานในครั้งนี้
พบกับการประชุมและนิทรรศการ "Life Sciences & Bio Investment Asia" โดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในงานThailand Lab International 2018 ระหว่างวันที่ 12 - 14 กันยายน 2561 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ตั้งแต่เวลา 10.00 – 17.00 น.
- ดูรายละเอียดการประชุมและเสวนาเพิ่มเติม ได้ที่ : www.tcels.0r.th
- สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 02-644-5499 ต่อ 1
ประชาสัมพันธ์ข่าวโดย : สื่อสารองค์กร ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี