กรุงเทพฯ--14 ก.ย.--ซีพีเอฟ
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เดินหน้าส่งเสริมชุมชนมีส่วนร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศอย่างยั่งยืน ประเดิมส่งมอบเงิน "กองทุนชุมชนป่าชายเลน โครงการปลูก ปัน ป้องป่าชายเลน ต.บางหญ้าแพรก สมุทรสาคร" เพื่อเป็นกองทุนหมุนเวียนใช้ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน และเป็นแหล่งเงินทุน พัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ ให้แก่สมาชิกกองทุนฯเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นายอุทัย เล็กประเสริฐ ประธานคณะกรรมการกองทุนชุมชนป่าชายเลน ตำบลบางหญ้าแพรก กล่าวว่า ชาวชุมชนตำบลบางหญ้าแพรก รู้สึกภาคภูมิใจที่มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ฟื้นฟูและปลูกป่าชายเลนเพิ่มเติม โดยร่วมดำเนินโครงการ "ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน" ช่วยฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์กลับสู่ระบบนิเวศและชายฝั่ง ซึ่งในวันนี้เป็นโอกาสที่ดีที่ทางซีพีเอฟได้มอบเงินกองทุนชุมชนป่าชายเลนฯ จำนวนเงิน 2.2 แสนบาท ให้กับคณะกรรมการชุมชนอนุรักษ์ป่าชายเลน เพื่อเป็นกองทุนหมุนเวียนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ เพื่อสนับสนุนให้คนในชุมชนตำบลบางหญ้าแพรกเข้ามามีส่วนร่วม กองทุนฯจะเปิดรับสมัครสมาชิก โดยสมาชิกแต่ละคนจะถือหุ้นอย่างน้อย 1 หุ้น แต่ไม่เกิน 50 หุ้น ราคหุ้นละ 100 บาท โดยสมาชิกกองทุนจะได้รับสิทธิในการกู้ยืมเงินเพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนในการพัฒนาอาชีพ รวมทั้งมีเกณฑ์ในการจัดสรรกำไรสุทธิประจำปี เมื่อสิ้นปีทางบัญชีของกองทุนปิดบัญชีตามมาตรการทางบัญชีแล้ว หากมีกำไรสุทธิ คณะกรรมการกองทุนจะนำกำไรมาจัดสรร เป็นเงินเฉลี่ยคืนให้แก่ผู้กู้ เป็นทุนเพื่อจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิก เป็นทุนเพื่อสาธารณประโยชน์ของหมู่บ้าน เป็นต้น
"กองทุนชุมชนป่าชายเลน โครงการปลูก ปัน ป้องป่าชายเลน ต.บางหญ้าแพรก สมุทรสาคร จะเป็นแหล่งเงินทุนให้กับคนในชุมชนตำบลบางหญ้าแพรก เพื่อใช้ดูแลป่าชายเลนและรักษาสมดุลของระบบนิเวศในระยะยาว" ประธานคณะกรรมการกองทุนชุมชนป่าชายเลน ต.บางหญ้าแพรก กล่าว
ด้าน นายปรีชา มีนิล รองกรรมการผู้จัดการ ซีพีเอฟ ในฐานะประธานยุทธศาสตร์ป่าชายเลน จ.สมุทรสาคร กล่าวว่า กองทุนชุมชนป่าชายเลนฯ สะท้อนความสำเร็จที่เกิดจากความร่วมมือที่เข้มแข็งของชาวชุมชนตำบลบางหญ้าแพรก และความตั้งใจจริงของหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน ในการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าชายเลน รวมทั้งเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ ขยายผลสู่การส่งมอบกองทุนชุมชนป่าชายเลน เป็นกองทุนแรกที่จะเป็นต้นแบบให้กับโครงการในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป
"กองทุนฯ จะเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนสำหรับสมาชิก ในการลงทุนพัฒนาอาชีพ สร้างงานและสร้างรายได้ เพื่อนำไปสู่การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่สมาชิก นอกจากนี้ เป็นการสร้างกระบวนการพึ่งพาตนเองให้กลุ่มสมาชิกป่าชายเลนในการพัฒนาความคิดริเริ่มเสริมสร้างศักยภาพตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" นายปรีชา กล่าว
ซีพีเอฟ ดำเนินกิจกรรมปลูกป่าชายเลน ณ ศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีทรัพยากรป่าชายเลนที่ 2 (สมุทรสาคร) ต.บางหญ้าแพรก จ.สมุทรสาคร ตั้งแต่ปี 2557-2561 เพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนได้ 104 ไร่ โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากชาวชุมชนต.บางหญ้าแพรก ทำให้พื้นที่ป่าชายเลนบริเวณนี้ เป็นต้นแบบการอนุรักษ์ป่าชายเลนให้กับชุมชนอื่น ๆ
นายปรีชา กล่าวเพิ่มเติม บริษัทฯ ยังได้ส่งเสริมเส้นทางท่องเที่ยวชุมชน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติที่สนใจท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และศึกษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวชุมชน ต.บางหญ้าแพรก อาทิ การทำนาเกลือ บ้านทำขนมหวาน ประดิษฐ์เรือจำลอง (เรือจิ๋ว) ฯลฯ เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนมีรายได้จากการท่องเที่ยวมาใช้ในการดูแลป่าชายเลนอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ชุมชนยังมีรายได้จากผลิตภัณฑ์ที่ทำจากภูมิปัญญาของชุมชน โดยรวมตัวกันเปิดสถานีส่งเสริมอาชีพชุมชนอนุรักษ์ป่าชายเลน เมื่อต้นปี 2561 ที่ผ่านมา เช่น การทำถ่านไบโอชาร์ ปุ๋ยชีวภาพ ปลูกผักปลอดสารพิษ ทำผลิตภัณฑ์จากถ่านไบโอชาร์ นำพืชป่าชายเลนมาแปรรูปเป็นอาหาร ฯลฯ
ซีพีเอฟ ดำเนินโครงการ "ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน" ตั้งแต่ปี 2557-2561 โดยร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) และเครือข่ายภาคประชาสังคม ปลูกป่าชายเลนในพื้นที่ยุทธศาสตร์ 5 แห่ง คือ จังหวัดระยอง จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดชุมพร จังหวัดสงขลา และจังหวัดพังงา รวมพื้นที่ที่ร่วมอนุรักษ์ป่าชายเลนทั้งสิ้น 2,343 ไร่ และพื้นที่ปลูกใหม่ 325 ไร่ และเป็นโครงการที่สอดรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs Goal) ในประเด็นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ร่วมกับชุมชนและภาคีเครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทั้งในพื้นที่รอบสถานประกอบการและพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ