กรุงเทพฯ--17 ก.ย.--วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม
ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโสสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) แถลงผลการสำรวจ "ความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อกระบวนการจ่ายยารักษาโรคกับปัญหาการเข้าถึงยารักษาโรค" สำรวจระหว่างวันที่ 8 ถึง 13 กันยายน พ.ศ. 2561 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,181 คน
ยารักษาโรคจัดเป็นหนึ่งในปัจจัยขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตสี่อย่างที่ทุกคนต้องเข้าถึงได้ สำหรับประเทศไทยได้มีการดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพเพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์และยารักษาโรคที่จำเป็นได้ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้คนในพื้นที่ห่างไกลบางส่วนยังประสบปัญหาในการเข้าถึงยารักษาโรคที่จำเป็น ขณะเดียวกันการหาซื้อยารักษาโรคตามร้านขายยากลับเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในสังคมไทย ด้วยกระบวนการซื้อยาที่ไม่มีการควบคุมอย่างเข้มงวด รวมถึงร้านขายยาจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้มีเภสัชกรประจำร้านเพื่อจ่ายยา ประกอบกับลักษณะนิสัยของคนไทยส่วนหนึ่งที่นิยมการไปซื้อยามารับประทานเองเมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยโดยไม่ยอมไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาล
เหล่านี้ คือ สาเหตุที่ทำให้คนไทยส่วนหนึ่งใช้ยารักษาโรคมากเกินความจำเป็น และในปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการพิจารณาแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับยาโดยกำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์อื่น เช่น พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ นักกายภาพบำบัด เป็นต้น สามารถทำหน้าที่จ่ายยาให้กับคนไข้/ผู้ป่วยแทนเภสัชกรได้
ทำให้กลายเป็นประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ถกเถียงกันเป็นวงกว้างโดยเฉพาะในหมู่ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ โดยฝ่ายที่เห็นด้วยมองว่าจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยารักษาโรคที่จำเป็นได้ทันท่วงที แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมองว่าอาจทำให้ประชาชนเกิดอันตรายจากการใช้ยาและทำให้ประชาชนใช้ยาต่างๆ เกินความจำเป็น รวมถึงอาจเป็นการเอื้ออำนวยให้กลุ่มทุนผู้ประกอบการร้านสะดวกซื้อรายใหญ่สามารถเปิดร้านขายยาได้อย่างเต็มรูปแบบภายในร้านสะดวกซื้อ
ทั้งนี้ ประเด็นดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบกับประชาชนทั่วไปโดยตรง ดังนั้น สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อกระบวนการจ่ายยารักษาโรคกับปัญหาการเข้าถึงยารักษาโรค
จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นเพศหญิงร้อยละ 50.64 และเพศชายร้อยละ 49.36 สามารถสรุปผลได้ดังนี้ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างการไปซื้อยามารับประทานกับการไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาลเวลารู้สึกมีอาการเจ็บป่วย กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 26.08 ระบุว่าตนเองจะเดินทางไปซื้อยาที่ร้านขายยามารับประทานก่อน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 12.7 จะเดินทางไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาลก่อน โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 61.22 ระบุว่าแล้วแต่สถานการณ์/ขึ้นอยู่กับอาการเจ็บป่วย
ในด้านความคิดเห็นต่อการมีร้านขายยากับการเข้าถึงยาและการใช้ยาเกินความจำเป็นนั้น กลุ่มตัวอย่างประมาณสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 66.72 มีความคิดเห็นว่าการมีร้านขายยาประจำชุมชนมีส่วนช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยารักษาโรคที่จำเป็นได้ง่ายขึ้น แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 65.88 เห็นด้วยว่าในปัจจุบันคนไทยสามารถหาซื้อยารักษาโรคต่างๆผ่านร้านขายยาทั่วไปได้ง่ายเกินไป ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 52.33 เชื่อว่าในปัจจุบันมีร้านขายยามากกว่าครึ่งหนึ่งที่ไม่ได้มีเภสัชกรอยู่ประจำร้านจริงตามที่ระบุไว้เพื่อจ่ายยา ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 36.75 เชื่อว่ามีประมาณครึ่งหนึ่ง โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 10.92 เชื่อว่ามีน้อยกว่าครึ่งหนึ่งที่ไม่มีเภสัชกรประจำอยู่จริงเพื่อจ่ายยา
ในด้านความคิดเห็นต่อการอนุญาตให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์อื่นสามารถจ่ายยาแทนเภสัชกรได้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 57.75 มีความคิดเห็นว่าหากมีการอนุญาตให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์อื่น เช่น พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ นักกายภาพบำบัด แพทย์แผนไทย เป็นต้น สามารถจ่ายยารักษาโรคให้กับผู้ป่วย/คนไข้แทนเภสัชกรได้จะมีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงยารักษาโรคที่จำเป็นได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 60.37 มีความคิดเห็นว่าหากมีการอนุญาตให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์อื่น เช่น พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ นักกายภาพบำบัด แพทย์แผนไทย เป็นต้น สามารถจ่ายยารักษาโรคให้กับผู้ป่วย/คนไข้แทนเภสัชกรได้จะส่งผลให้คนไทยใช้ยารักษาโรคมากเกินความจำเป็นได้
ขณะที่กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 51.82 มีความคิดเห็นว่าหากมีการอนุญาตให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์อื่น เช่น พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ นักกายภาพบำบัด แพทย์แผนไทย เป็นต้น สามารถจ่ายยารักษาโรคให้กับผู้ป่วย/คนไข้แทนเภสัชกรได้จะไม่มีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพการบริการทางการแพทย์ให้กับประชาชนได้จริง
ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 61.73 ไม่เห็นด้วยหากจะมีการอนุญาตให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์อื่น เช่น พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ นักกายภาพบำบัด แพทย์แผนไทย เป็นต้น สามารถจ่ายยารักษาโรคให้กับผู้ป่วย/คนไข้แทนเภสัชกรได้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 30.65 เห็นด้วย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 7.62 ไม่แน่ใจ
ในด้านความคิดเห็นต่อการกำหนดให้ต้องแสดงใบสั่งยาจากแพทย์เวลาซื้อยาที่ร้านขายยานั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 69.77 เห็นด้วยที่จะมีการกำหนดให้ต้องแสดงใบสั่งยาจากแพทย์ทุกครั้งเวลาไปซื้อยารักษาโรคนอกเหนือจากยาสามัญประจำบ้านที่ร้านขายยาทั่วไป ขณะที่กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 68.42 มีความคิดเห็นว่าหากมีการกำหนดให้ต้องแสดงใบสั่งยาจากแพทย์ทุกครั้งเวลาไปซื้อยารักษาโรคนอกเหนือจากยาสามัญประจำบ้านที่ร้านขายยาทั่วไปจะมีส่วนช่วยให้คนไทยลดการใช้ยารักษาโรคโดยไม่จำเป็นลงได้
และในด้านความคิดเห็นต่อการอนุญาตให้มีเภสัชกรประจำร้านสะดวกซื้อเพื่อจ่ายยา กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 52.07 ไม่เห็นด้วยหากจะอนุญาตให้มีเภสัชกรประจำร้านสะดวกซื้อเพื่อจ่ายยารักษาโรคนอกเหนือจากยาสามัญประจำบ้านได้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 38.95 เห็นด้วย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 8.98 ไม่แน่ใจ