กรุงเทพฯ--17 ก.ย.--มหาวิทยาลัยแม่โจ้
คณะพัฒนาการท่องเที่ยว ม.แม่โจ้ จัด Workshop สร้างสรรค์นวัตกรรมการบริการ(Service Innovation Design Boot Camp)
หวังเพิ่มมูลค่าธุรกิจร้านอาหารและบริการแวดล้อมในชุมชน ตั้งเป้ายกระดับเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณค่าสูง (High Value Destination)
คณะพัฒนาการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จัดกิจกรรมเสริมทักษะการสร้างสรรค์นวัตกรรมการบริการ (Service Innovation Design Boot Camp) ระหว่างวันที่ 3-7 และ 10-14 กันยายน 2561 รวม 10 วัน ณ ห้องเชียงแสน ศูนย์ประชุมนานาชาติคุ้มคำ จ.เชียงใหม่
กิจกรรมเสริมทักษะการสร้างสรรค์นวัตกรรมการบริการ (Service Innovation Design Boot Camp) เป็นกิจกรรมที่อยู่ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจชุมชนบนฐานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมด้วยนวัตกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทานหรือ Restaurant Service Innovation จัดโดย คณะพัฒนาการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยแม่โจ้ สนับสนุนโดยกระทรวงศึกษาธิการ และได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ได้แก่ คณะวิทยาศาสตร์ คณะผลิตกรรมการเกษตร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ Maejo University Business Incubator หรือ MJUBI สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สวทน. โดยแบ่งออกเป็น 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรเสริมขีดความสามารถเพื่อพัฒนาสมรรถนะพิเศษด้านการออกแบบนวัตกรรมการบริการสำหรับนวัตกรชุมชน (LOCAL Innovator) และ หลักสูตรสำหรับนวัตกรต้นแบบ (LEAD Innovator) เพื่อพัฒนาสมรรถนะพิเศษด้านการออกแบบนวัตกรรมการบริการ บนฐานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมด้วยนวัตกรรมที่เหมาะสมกับบริบทชุมชน หวังเพิ่มมูลค่าในกลุ่มธุรกิจร้านอาหารและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง (Integrated Service Innovation Ecosystem)
อาจารย์อนุวัต เชื้อเย็น คณบดีคณะพัฒนาการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยแม่โจ้ หัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยว่า "การสัมมนาเชิงปฏิบัติการตลอด 10 วันที่ผ่านมา ถือว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างสูง
ผู้เข้ารับการอบรมต่างได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้อันเข้มข้นจากการผนึกกำลังของทีมงานผู้เชี่ยวชาญ จากสหสาขาวิชา ทีมงานกระบวนกร (Facilitators) ผู้ประกอบการธุรกิจสร้างสรรค์ และนักออกแบบท้องถิ่น เพื่อสื่อสารคุณค่ามรดกภูมิปัญญาอาหาร (Gastronomic Heritage) ด้วยกรอบกระบวนการคิดเชิงออกแบบ หรือ Design Thinking ที่ให้ผู้เข้าร่วมได้เข้าใจตัวตน บริบทโดยรอบด้วยการใช้เครื่องมือในการศึกษา วิเคราะห์ และนำจุดเด่นของภูมิปัญญาท้องถิ่น วัสดุ ทักษะฝีมือ มาต่อยอดในกระบวนการออกแบบ สร้างกลยุทธ์ทางการตลาด และนำไปใช้ในธุรกิจได้จริง และรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญให้สินค้าและบริการตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ สอดคล้องกับทิศทางของแบรนด์ สามารถนำแนวทางไปพัฒนาผลงานให้สามารถผลิตและจำหน่าย ได้จริง แต่ละหลักสูตรทางคณะได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญมาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ให้แก่ผู้เข้าร่วมอบรมมากมายตลอดทั้ง 10 วัน อาทิ คุณวิทยา อัศวเสถียร Community Manager Google Developer Group Thailand, คุณเบญจวรรณ ปินตา Site Manager จาก Wongnai, ทีมบริหาร Ginger, ทีมบริหาร BeNeat บริการทำความสะอาดที่กำลังมาแรง, ทีมบริหาร Review Chiangmai เป็นต้น นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมยังได้เปิดประสบการณ์ด้วยการศึกษาดูงานพร้อมทำ Workshop นอกสถานที่ ณ X2 Chiangmai Riverside Resort โรงแรมชื่อดังที่ได้รับรางวัลด้านสถาปัตยกรรมดีเด่น และห้องอาหาร Oxygen อาหารสไตล์ฝรั่งเศสจากฝีมือของเชฟมิชลินสตาร์ รวมทั้ง Ginger Farm อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ฟาร์มเกษตรห้องเรียนขนาดใหญ่ ตัวอย่างความสำเร็จด้านการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ผสมผสานกับการออกแบบด้านบริการ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงให้กับพื้นที่และผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งคณะพัฒนาการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า นวัตกรชุมชน (LOCAL Innovator) และนวัตกรต้นแบบ (LEAD Innovator) ที่ผ่านการบ่มเพาะจากโครงการนี้ จะนำกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ควบคู่กับพลังการสร้างสรรค์ร่วม (Co-Creation) กลับไปยกระดับเศรษฐกิจชุมชนบนฐานมรดกภูมิปัญญา ทางวัฒนธรรมด้วยนวัตกรรมให้กับชุมชนและกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ เพื่อความเจริญอย่างยั่งยืนของชาติต่อไป"
สำหรับผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรมเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/mjursi และ www.tourism.mju.ac.th/rsi/