กรุงเทพฯ--17 ก.ย.--กรมวิทยาศาสตร์บริการ
วันที่ 12-14 กันยายน 2561 นางสาวนงนุช เมธียนต์พิริยะ ผู้อำนวยการกองผลิตภัณฑ์อาหารและวัสดุสัมผัสอาหาร พร้อมด้วยทีมนักวิทยาศาสตร์ลงพื้นที่พบกลุ่มผู้ประกอบการ OTOP ในจังหวัดกาฬสินธุ์มุ่งเน้นนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยผู้ประกอบการในพื้นที่ เช่น สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร สิ่งทอ เพื่อแก้ปัญหากระบวนการผลิต พัฒนาคุณภาพ เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามมาตรฐาน ในเขตพื้นที่ อ.เมือง อ.สามชัย อ.คำม่วง อ.สมเด็จ อ.สหัสขันธ์ อ.ท่าคันโท
นางสาวนงนุชฯ กล่าวว่า การยกระดับ OTOP กาฬสินธุ์นี้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาถ่ายทอดพร้อมให้คำปรึกษาเชิงลึก ได้ระยะหนึ่งแล้ว ตั้งเป้าพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการประเภทผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกาย เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าย้อมคราม ผ้าพื้นเมืองย้อมสีธรรมชาติ เป็นต้น ซึ่งการติดตามหลังจากได้รับการฝึกอบรม และการให้คำปรึกษาเชิงลึก พบว่าผู้ประกอบการมีความรู้ความเข้าใจในองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ สามารถประยุกต์ใช้ในการย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติให้มีสีสันสดใส ติดทนนาน อีกทั้งสร้างเอกลักษณ์ท้องถิ่นให้กับผลิตภัณฑ์ด้วยสีจากไม้ในพื้นที่ อาทิ ใบยูคา ดอกอัญชัน ขี้หม่อน เห็ดตะปู้ เปลือกยางนา ฯลฯ ในด้านสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร เช่น ลูกประคบสมุนไพรหลังจากนำไปทดสอบในห้องปฏิบัติการพบว่าเชื้อจุลินทรีย์เกินมาตรฐาน จึงใช้หลักวิทยาศาสตร์ในการพัฒนากระบวนการผลิตเพื่อลดเชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อนในวัตถุดิบสมุนไพรที่ใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ ส่งผลเพิ่มมูลค่ายกระดับการผลิตทำให้ผลิตภัณฑ์ได้รับมาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาดต่อไป
ด้านนางสุลา ษีบ้านโพน ประธานกลุ่มสตรีผ้าทอบ้านจาน หมู่2 ให้ข้อมูลว่า ทางกลุ่มมีสมาชิกจำนวน 80คน เน้นเป็นผู้ผลิตขายส่งผ้า อาทิ เสื้อ ผ้าซิ่น ผ้าคลุมไหล่ ผ้าสไบ ผ้าโสร่ง ผ้าพันคอฯลฯ ก่อนหน้าที่จะได้รับการอบรมทางกลุ่มใช้สีย้อมผ้าเป็นเคมีทั้งหมด แต่พอทางนักวิทยาศาสตร์และอาจารย์ลงมาสนับสนุนความรู้ทางด้านสีธรรมชาติและด้านการตลาด ทางกลุ่มจึงปรับเปลี่ยนมาย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติจากวัตถุดิบที่หาได้ในแหล่งชุมชน พบว่า ราคาผ้ามูลค่าเพิ่ม ได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มผู้บริโภคที่รักธรรมชาติ ใส่ผ้าไทยที่ปลอดสารเคมี ในด้านการตลาดก็ดีเนื่องจากกลุ่มลูกค้าเดินทางมาถึงกลุ่มเพื่อซื้อผ้านำไปสวมใส่และนำไปจำหน่ายเพิ่มมากยิ่งขึ้น