กรุงเทพฯ--17 ก.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
"โคเวิร์คกิ้งสเปซ" (Co-working Space) หรือพื้นที่เปิดกว้างสำหรับทุกการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการยกแล็ปท็อปมานั่งพิมพ์งานคนเดียวหรือจะมาเป็นกลุ่มนั่งประชุม รวมหัวคุยงาน ก็เป็นไปตามความสะดวกและรูปแบบงานที่แตกต่างกันไป แม้ในช่วงนึงโคเวิร์คกิ้งสเปซจะเป็นพื้นที่สำหรับเหล่าฟรีแลนซ์ทั้งหลาย แต่ด้วยความยืดหยุ่นในพื้นที่ ที่ช่วยลดความเครียดและสร้างความสบายในการทำงาน ปัจจุบันโคเวิร์คกิ้งสเปซจึงเริ่มขยายขอบเขตการให้บริการไปถึงเหล่าพนักงานประจำ หลายบริษัท อาทิ
กูเกิล (Google) ไลน์ (Line) และดีแทค (DTAC) จึงเริ่มหันมาสร้างพื้นที่โคเวิร์คกิ้งสเปซในบริษัทของตนเอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการทำงาน
และหากเราอยู่ในยุคที่การทำงานไม่จำกัดแค่ในออฟฟิศอีกต่อไป แล้วทำไมการเรียนของนักศึกษาจะยังคงต้องถูกล้อมกรอบด้วยห้องเรียน มาพบกับพื้นที่ "โคเลิร์นนิ่งสเปซ"(Co-learning Space) ในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ที่พร้อมเปิดพื้นที่ให้เหล่าลูกแม่โดมได้ใช้เพื่อยกระดับการเรียนรู้ในยุค 4.0
- ศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
บนชั้น 2 ของศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์หรือศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเองแห่ง มธ. ประกอบไปด้วยมุมที่ใช้ในการนั่งทำงานและประชุมกลุ่มแบบหลากหลายสไตล์ ทั้งแบบนั่งโต๊ะทำงานเหมาะกับการยกแล็ปท็อปมานั่งพิมพ์งานหรือจะเป็นโซฟาที่สามารถนั่งทำงานได้อย่างสะดวกสบาย นอกจากนี้ยังมีห้องประชุมกลุ่มย่อย ที่จุสมาชิกได้ราว 4 – 10 คน เหมาะสำหรับการทำรายงานแบบไม่ต้องส่งเสียงรบกวนใคร
- หอสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์
ใครว่าห้องสมุดจะต้องนั่งเงียบอ่านหนังสือเท่านั้น เพราะที่ชั้น 1 หอสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์ นั้นเปิดพื้นที่ให้สามารถนั่งทำงานได้อย่างอิสระกว่า 100 ที่นั่ง รวมทั้งมีห้องประชุมขนาดใหญ่ที่สามารถประชุมกลุ่ม 12 คน ได้อย่างสบาย ๆ
- ธรรมศาสตร์ครีเอทีฟสเปซ (Thammasat Creative Space)
บนพื้นที่กว่า 1,500 ตารางเมตร ที่ชั้น 1 หอสมุดป๋วยอึ๊งภากรณ์ ที่พร้อมเปิดบริการให้นักศึกษาจากทุกคณะได้มานั่งทำงาน แลกเปลี่ยนความรู้กันในบรรยากาศสร้างสรรค์ นอกจากนี้ยังสามารถเลื่อนโต๊ะ จัดห้อง ขยายพื้นที่ให้กลายเป็นพื้นที่โล่ง เพื่อการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ได้อีกด้วย
- ดีไซน์ ฟิวเจอร์ แล็ป (Design Future Lab) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง
ขึ้นชื่อว่าเด็กสถาปัตย์ฯ หากจะให้นั่งเรียนแต่ตำรา อ่านแต่หนังสือหน้าตัวอักษร ก็คงจะไม่ถูกนัก ดีไซน์ ฟิวเจอร์ แล็ป จึงเป็นพื้นที่สำหรับนักศึกษารุ่นใหม่ที่ต้องการพัฒนาความคิด ยกระดับความรู้ จากการได้แลกเปลี่ยนความรู้กับกลุ่มเพื่อน เพื่อค้นหาไอเดียใหม่ ๆ ในบรรยากาศสุดโมเดิร์น
- มุมอ่านหนังสือบ่อปลาที่คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์
ใครอยากเปลี่ยนบรรยากาศ ออกมานั่งคุยงาน รวมกลุ่มกันอ่านหนังสือ หรือจะทำกิจกรรมร่วมกัน ในบรรยากาศสบาย ๆ นั่งตากลมธรรมชาติ มองดูปลาคราฟ เคล้าเสียงน้ำไหล ก็คงเป็นที่ไหนไม่ได้นอกจาก บ่อปลาสุดชิค ที่คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์
- เหล่าร้านกาแฟสุดชิค ในธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต)
นอกจากการเรียน และใช้พลังสมองมากๆ ในห้องเรียนแล้ว สถานที่ที่จะเป็นที่พักผ่อนย่อนคลาย พบปะพูดคุย นัดรวมตัวกันติวหนังสือ และได้เพลิดเพลินอิ่มท้องไปกับการกินของอร่อย ไม่ว่าจะขนม เครื่องดื่มและอาหารคาว ซึ่งก็สามารถสรรหาได้ในคาเฟ่และร้านกาแฟที่อยู่ในรั้ว มธ. ศูนย์รังสิต ไม่ว่าเป็นร้านเออบี้ (Urbie) ที่คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ร้านกาแฟสตาร์บัค (Starbuck) ที่หอสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์ และยังมีอีกมากมายให้ได้เลือกนั่งทำงานและเลือกทานตามความชอบ
รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า แม้รูปแบบการดำเนินการบางอย่างจะสามารถสร้างผลลัพธ์ที่ดีได้ในอดีต แต่นั่นคงไม่ใช่เครื่องการันตีว่าสิ่งเหล่านั้นจะสร้างผลลัพธ์แบบเดิมในปัจจุบัน ด้วยตระหนักถึงความจริงข้อนี้ มธ. จึงพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานในทุกมิติ เพื่อโอกาสในการสร้างผลลัพธ์ทางการศึกษาที่ดีที่สุดและสามารถรองรับความต้องการของเหล่านักศึกษา มธ. จึงเป็นที่มาของการพัฒนาพื้นที่ ให้สามารถรองรับการเรียนรู้แบบแอคทีฟ (Active Learning) อันหมายถึงพื้นที่การเรียนรู้ที่มีความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของนักศึกษาที่ต่างกันออกไปหรือที่เราเรียกกันว่า "โคเลิร์นนิ่งสเปซ"
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทรศัพท์ 02-564-4493 หรือเว็บไซต์ www.tu.ac.th/news