กรุงเทพฯ--17 ก.ย.--กรมส่งเสริมสหกรณ์
หัวหน้าคณะผู้แทนสหกรณ์การเกษตร JA Hadano ญี่ปุ่น เผยหัวใจสำคัญการทำงานสหกรณ์คือการดูแลผลผลิตของสมาชิก ระบุสหกรณ์ญี่ปุ่นเน้นวางของสดใหม่วางขายทุกวัน ประทับใจไทยคือต้นแบบการทำงานเข้มแข็ง อนาคตคาดเปิดโอกาสให้สตรีชาวญี่ปุ่นร่วมงานในสหกรณ์มากขึ้น
Mr. Ammi TAKAAKI หัวหน้าคณะผู้แทนสหกรณ์การเกษตร JA-Hadano และคณะ เดินทางเข้าพบผู้บริหารของกรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อสานต่อโครงการมิตรภาพสหกรณ์ไทย-ญี่ปุ่น โดยได้ดำเนินโครงการแลกเปลี่ยนภาพวาดร่วมกับโรงเรียนวัดหนองแก และโรงเรียนวัดหนองปรง จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งโครงการมิตรภาพไทย-ญี่ปุ่น ได้ดำเนินกิจกรรมแลกเปลี่ยนภาพวาดระหว่างนักเรียนไทยและญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี39 เป็นต้นมา และสหกรณ์การเกษตร JA-Hadano ได้ส่งคณะผู้แทนสหกรณ์เดินทางมาเยี่ยมเยือนโรงเรียนดังกล่าวเป็นประจำทุกปี พร้อมกันนี้ยังได้เดินทางไปศึกษา ดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการดำเนินงานสหกรณ์กับสหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จำกัด และสหกรณ์การเกษตรเขาย้อย จำกัด พร้อมกับการเยี่ยมชมแปลงเกษตรของสมาชิกสหกรณ์ด้วย
Mr. Ammi กล่าวว่า ที่ประเทศญี่ปุ่นมีการจัดตั้งสหกรณ์จำนวนมาก โดยตนทำงานในส่วนของกลุ่มสหกรณ์ JA-Hadano ซึ่งเป็นสหกรณ์การเกษตรที่มีระบบการทำงานที่เหมาะสมกับบริบทของสังคมญี่ปุ่นมาก ซึ่งระบบการระบบการทำงานของสหกรณ์จะแบ่งการทำงานออกเป็นหลายส่วน สำหรับมุมมองส่วนตัวของตน ในฐานะเกษตรกรคนหนึ่งและทำงานด้านส่งเสริมการเกษตรนั้น มองว่าหัวใจสำคัญในการดำเนินงานของสหกรณ์คือการดูแลผลผลิตให้แก่สมาชิก ใครมีปัญหาอะไรก็สามารถเข้ามาขอรับความช่วยเหลือและคำปรึกษาได้ ซึ่งสหกรณ์จะทำหน้าที่รวบรวมผลผลิตที่สมาชิกปลูกเองแล้วนำไปฝากขายที่ร้านค้าของสหกรณ์โดยตรงที่ตลาด JA-Hadano ผู้บริโภคก็คือสมาชิกสหกรณ์และประชาชนในชุมชนนั้น ถ้าผลผลิตขายไม่หมดสมาชิกที่เป็นเจ้าของก็ขนกลับบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะนำกลับมาแปรรูป เช่น สมาชิกคนหนึ่งเลี้ยงไก่แล้วนำไข่ไปฝากขาย เมื่อขายไม่หมดก็นำไข่ไก่กลับบ้าน แล้วนำไข่มาอบแห้ง และสามารถบรรจุใส่ซองพร้อมปรุงอาหารต่อได้ ร้านค้าของสหกรณ์ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางให้สมาชิกสามารถนำผลผลิตมาฝากขาย ถ้าขายได้จะแบ่งรายได้ให้ร้านค้า JA-Hadano 15% ส่วนของที่เหลือก็นำกลับบ้าน เพรฉะนั้นสินค้าทุกประเภทจึงมีความสดใหม่ วางขายกันวันต่อวัน และสินค้าที่วางขายส่วนใหญ่จะเป็นของที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เมล็ดพันธุ์พืช ผัก ผลไม้ ข้าว เนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์ที่เกษตรกรนำกลับมาแปรรูปแล้วนำกลับมาฝากขายใหม่ เช่น ปลาแห้ง ผลผลิตการเกษตรแปรรูปต่างๆ
ทั้งนี้ จากการได้เยี่ยมเยือนประเทศไทยหลายปีที่ผ่านมา ทาง JA-Hadano รู้สึกความประทับใจมากเกี่ยวกับการได้เห็นบทบาทของผู้หญิงที่ทำงานในสหกรณ์ของประเทศไทย จึงเกิดความประทับใจที่เห็นผู้หญิงที่มีความสามารถได้เข้ามาทำงานในสหกรณ์และมีบทบาทที่สำคัญด้วย เนื่องจากที่ญี่ปุ่นส่วนใหญ่คนที่เข้ามาทำงานในสหกรณ์เป็นผู้ชาย ซึ่งในอนาคตก็อยากสนับสนุนให้ผู้หญิงญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาทในสหกรณ์เพิ่มมากขึ้น
"การมาดูงานในครั้งนี้ผมได้เห็นการทำงานที่เข้มแข็ง การทำงานที่ตั้งใจ แม้ว่าผมอาจจะยัง ไม่ได้เห็นการทำงานในแง่มุมอื่น แต่ผมก็รู้สึกประทับใจมากและจะนำเรื่องราวที่ได้พบเจอนี้กลับไปบอกเล่าให้เพื่อนๆที่ญี่ปุ่นได้รับรู้ว่าอาหารของประเทศไทยอร่อยมาก ผลไม้ก็อร่อย เพราะยังมีกลุ่มเกษตรกรชาวญี่ปุ่นอีกจำนวนมากที่ไม่รู้จักประเทศไทย สำหรับความแตกต่างระหว่างสหกรณ์ของประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น คือการแลกเปลี่ยนความรู้หรือการอบรม และการแนะนำเกี่ยวกับเรื่องการเกษตรทั้งหมด ที่ประเทศญี่ปุ่นจะดำเนินงานโดยสหพันธ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่อยู่เหนือสหกรณ์ขึ้นไปอีก โดยสหพันธ์จะมีทั้งเอกสาร และทีมอบรมที่เข้มแข็งอยู่ข้างบน สำหรับคอยกำกับดูแลอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งตนก็ไม่แน่ใจว่านี่คือความแตกต่างหรือไม่ ระหว่างการสหกรณ์ไทยกับสหกรณ์ที่ประเทศญี่ปุ่น" Mr. Ammi กล่าว