“ทนง”ลั่นตลาดทุนไทยครบเครื่องชูแผนแม่บท 5 ปีเทียบชั้นสากล

ข่าวทั่วไป Friday November 18, 2005 13:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 พ.ย.--ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
“ทนง” เปิดงาน SET in the City 2005 อลังการ ย้ำตลาดทุนไทย 30 ปี ครบทุกช่องทางลงทุน ตลาดหุ้น ตราสารหนี้ อนุพันธ์ ซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า สร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจระยะยาว เดินหน้ายกชั้นเทียบสากล รับมือกระแสเงินเคลื่อนย้ายทั่วโลก เข็นตลาดตราสารหนี้โตเท่าตลาดหุ้นใน 10 ปี ติงรายย่อยเยอะ แนะกระตุ้นเพิ่มลงทุนผ่านสถาบัน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดร.ทนง พิทยะ เป็นประธานและกล่าวปาฐกถาในพิธีเปิดงานมหกรรมการลงทุนครบวงจรครั้งที่ 4 “SET in the City 2005” ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ วารสารการเงินธนาคารจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 17-20 พฤศจิกายน 2548 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายใต้แนวคิดหลัก “30ปีตลาดทุนไทย ครบทุกเงื่อนไขการลงทุน” ที่มุ่งเน้นให้ผู้ลงทุนรับรู้ข้อมูลและเข้าใจการลงทุนในหุ้น พันธบัตร ตราสารหนี้ ตราสารอนุพันธ์และกองทุนรวม
ดร.ทนง กล่าวว่า ตลาดทุนไทยได้พัฒนามาสู่ปีที่ 30 แล้ว พร้อมๆ กับที่รัฐบาลได้ผลักดันให้ช่องทางในการลงทุนครบวงจร ได้แก่ ตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ ตลาดตราสารอนุพันธ์ และตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งภาคธุรกิจและภาคการลงทุน เพราะมีทางเลือกในการระดมทุนและการลงทุนที่กว้างขวางมากยิ่งขึ้น
การที่มีช่องทางการระดมทุน และการลงทุนครบทุกด้าน จะเป็นผลดีกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ และมีเสถียรภาพมากขึ้นในระยะยาว เนื่องจากลดการพึ่งพาเงินทุนจากระบบธนาคารพาณิชย์
“ก่อนหน้านี้การระดมทุนของภาคธุรกิจอาศัยเงินสินเชื่อจากแบงก์เป็นหลัก ประมาณร้อยละ 120 ของจีดีพี ซึ่งไม่เป็นผลดีกับระบบเศรษฐกิจของประเทศนัก แต่ขณะนี้หลังจากช่องทางการระดมทุนมีมากขึ้น ทำให้ภาคธุรกิจลดการใช้สินเชื่อจากแบงก์ในการขยายการลงทุนลง และหันมาพึ่งเงินทุนจากตลาดทุนมากขึ้น โดยมูลค่าการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้มีสัดส่วนร้อยละ 50 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) มูลค่าการระดมทุนของตลาดหุ้นมีสัดส่วนร้อยละ 70 ของจีดีพี ส่วนสินเชื่อจากแบงก์ลดลงเหลือร้อยละ 70” ดร.ทนงกล่าว
ที่ผ่านมามูลค่าการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้มีสัดส่วนร้อยละ 12 ของจีดีพี มูลค่าการระดมทุนผ่านตลาดหุ้นมีสัดส่วนร้อยละ 23 ของจีดีพี และคาดว่ามูลค่าการระดมทุนในตลาดหุ้นจะเท่ากับจีดีพีของประเทศภายใน 5 ปีข้างหน้า และรัฐบาลจะพยายามพัฒนาตลาดตราสารหนี้ให้มีขนาดเท่ากับตลาดหุ้นภายใน 10 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม ดร.ทนง กล่าวว่า จุดอ่อนสำหรับตลาดทุนไทย คือ การที่มีสัดส่วนนักลงทุนรายย่อยจำนวนมากถึงร้อยละ 63 และมีมูลค่าการซื้อขายเกินร้อยละ 100 ซึ่งมาจากบัญชีที่มีการเคลื่อนไหวเพียง 1 แสนกว่าราย ในขณะที่นักลงทุนสถาบันมีสัดส่วนร้อยละ 10 ที่เหลือร้อยละ 27 เป็นนักลงทุนต่างประเทศ โดยการที่มีนักลงทุนรายย่อยจำนวนมากเช่นนี้ จะทำให้ตลาดทุนไม่มีเสถียรภาพ ดังนั้นควรผลักดันให้รายย่อยหันไปลงทุนผ่านสถาบันมากยิ่งขึ้น และช่วยกันสร้างจิตสำนึกพัฒนาตลาดทุน
ดร.ทนงกล่าวว่า รัฐบาลยังคงจะพัฒนาตลาดทุนไทยให้ก้าวสู่ระดับสากล ซึ่งขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการที่ร่วมกันผลักดัน ให้เป็นไปตามแผนแม่พัฒนาตลาดทุนไทย 5 ปี เพื่อให้ตลาดทุนไทยต่อสู้ในตลาดโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ และสามารถรับมือกับเงินทุนเคลื่อนย้ายเสรีที่กำลังเกิดขึ้นภายใต้โลกาภิวัฒน์ เพราะตลาดทุนทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลงเร็ว โดยปัจจุบันสินทรัพย์ลงทุนและกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายทั่วโลกมีมูลค่ารวม 38 ล้านล้านดอลลาร์
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า คาดว่าจะสามารถสรุปแผนพัฒนาแม่บทพัฒนาตลาดทุนไทยในสิ้นปีนี้ โดยขณะนี้คณะกรรมการทั้งภาครัฐและเอกชน กำลังร่วมจัดทำแผนอยู่ โดยแผนพัฒนาจะครอบคลุมการเตรียมพร้อมของตลาดทุนให้รองรับกับการเปิดเสรีและการแข่งขันกับตลาดทุนอื่นของต่างประเทศ
สำหรับการเพิ่มสัดส่วนนักลงทุนจากรายย่อยให้เป็นนักลงทุนสถาบันมากขึ้น คาดว่าจะบรรลุเป้าหมายได้ภายใน 4 - 5 ปีข้างหน้า เพื่อสร้างความสมดุลของนักลงทุนในตลาดทุน--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ